แม้ผลการลงมติการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็น “ครั้งสุดท้าย” ของการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ตามมาตรา 151 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระการทำงานในช่วงต้นปี 2566 จะไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของคอการเมืองว่าบรรดา 11 รัฐมนตรี จะผ่านด่านการลงคะแนน “ไว้วางใจ” ได้ไม่ยาก จากเสียง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่มีเหนือหลายขุม ยังไม่นับรวม ส.ส. “งูเห่า” ที่โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งจาก พรรคเพื่อไทย 7 เสียง พรรคก้าวไกล 4 เสียง พรรคเพื่อชาติ 1 เสียง และพรรคเศรษฐกิจไทย 4 เสียง
งานนี้แม้ “คะแนนเสียง” ที่ลงให้กับรัฐมนตรีรายบุคคลจะไม่ทำให้เจ้าตัวพ้นจากตำแหน่ง แต่ต้องยอมรับว่าได้ทิ้ง “ร่องรอย” บางอย่างไว้ให้กับพรรคร่วมรัฐบาล แต่มานั่ง”จับเข่าคุย”กันใหม่กับเสียงที่ไม่มีความเป็น “เอกภาพ” ซึ่งควรจะเทใจให้กับรัฐมนตรีทั้งหมดที่มาจาก “ฝ่ายเดียวกัน” ยกเว้นพี่ใหญ่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เรียกว่าคะแนนนำโด่ง สมเป็นพี่ใหญ่ผู้มากบารมีในรัฐบาล เพราะได้คะแนนไว้วางใจ 268 เสียงที่ได้ก็มาจาก ส.ส. กลุ่ม 16 ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก พรรคเศรษฐกิจไทย 15 เสียง และ 4 เสียงจากส.ส.งูเห่าพรรคก้าวไกล รวมถึงคะแนนงดออกเสียงที่มาจาก 7 ส.ส.งูเห่าพรรคเพื่อไทย ที่จะย้ายไปพรรคภูมิใจไทย รวมถึงนายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ ยกเว้น นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่งดออกเสียงสวนมติพรรค
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ที่มีคะแนนไว้วางใจมาเป็นอันดับ 2 ซึ่งแม้ว่าจะไม่ผิดความคาดหมาย แต่เมื่อไปดู 264 เสียงที่ได้นั้น ปรากฏว่า นอกเหนือจากจาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ปรากฏว่า มี ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านปันใจที่จะมาร่วมงานทางการเมืองในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. กลุ่มงูเห่าพรรคเพื่อไทย 7 เสียง ที่จะย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทยในสมัยหน้า ส.ส.งูเห่าพรรคก้าวไกล 5 เสียง นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ ตลอดจน ส.ส.กลุ่ม 16 ทุกคน และ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย 3 คน ที่จะย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย สมกับเป็นพรรคที่รวมบรรดา “งูเห่า” เอาไว้อย่างแท้จริง
ขณะที่ผู้นำรัฐบาลอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้คะแนนไว้วางใจมาเป็นอันดับ 3 โดย 256 เสียงที่ได้มาจากพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค รวมถึง ส.ส.กลุ่ม 16 ทุกคน มีเพียง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 2 คนคือ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ขณะพรรคเศรษฐกิจไทย 16 คน เสียงแตก มี ส.ส. 11 คน นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรค ลงมติไม่ไว้วางใจ แต่มีลูกทีม 4 คน คือ นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลงมติไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งถือเป็นความน่าสนใจในตัวพรรคเศรษฐกิจไทย ของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ต้องจัดกระบวนทัพกันใหม่ เมื่อเพื่อนอุดมการณ์กำลังแยกทางไปพรรคการเมืองอื่น
แต่ความน่าสนใจคือเสียงของรัฐมนตรีที่ต่ำกว่า 250 เสียง ซึ่งมาจากทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวรัฐมนตรีเอง ไม่ว่าจะเป็นพ่อบ้านพรรคพลังประชารัฐอย่างนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ได้คะแนนไว้วางใจเพียง 243 เสียง และคะแนนไม่วางใจ 208 เสียง ซึ่งนอกจากจะมาจากพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้ว ยังพบว่ามีเสียงจากพรรค พปชร. 6 เสียง แทรกมาด้วย เป็น ส.ส.สมุทรปราการ 6 คน คือ นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก , นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ , น.ส.ภริม พูลเจริญ , นายยงยุทธ สุวรรณบุตร , นายอัครวัฒน์ อัศวเหม และนายต่อศักดิ์ อัศวเหม คะแนนงดออกเสียง 20 เสียงมาจากงูเห่าจากพรรคเพื่อไทย 7 เสียง งูเห่าพรรคก้าวไกล 5 คน พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน และพรรคเพื่อชาติ มี 3 เสียง ขณะที่นายสุชาติ ลงมติงดออกเสียงตัวเอง
เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 1 ในพี่ใหญ่กลุ่ม 3 ป.ที่ได้เสียงไว้วางใจ 245 เสียง โดยมีคะแนนไม่ไว้วางใจสูงสุด 212 เสียง ซึ่งมีเสียงจากทีม “อัศวเหม” ที่เป็นส.ส.สมุทรปราการ 5 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน พรรคพลังประชารัฐลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งการลงคะแนนทั้ง 2 รัฐมนตรี ที่มี ส.ส.กลุ่มสมุทรปราการโผล่มาย่อมสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในภายในพรรคพลังประชารัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะ 2 รัฐมนตรี
โดยมีรายงานว่า สำหรับ พล.อ.อนุพงษ์ พบว่า จ.สมุทรปราการ ไม่ได้รับความร่วมมือ หรือความใส่ใจจาก พล.อ.อนุพงษ์ในการพัฒนาด้านต่างๆ และกลุ่มนี้เคยเสนอชื่อพล.อ.ประวิตรมาเป็น รมว.มหาดไทยแทน พล.อ.อนุพงษ์ ในที่ประชุมพรรค รวมถึงกรณีของนายสุชาติ ที่ปาดหน้าเค้กคว้าตำแหน่งรัฐมนตรีไปทั้งที่นายสุชาติมี ส.ส.ในมือน้อยกว่ากลุ่ม “อัศวเหม” จึงนำไปสู่การโหวตสวนมติพรรค และคำขอของ พล.อ.ประวิตร ที่ต้องการให้โหวตสนับสนุน 11 รัฐมนตรี
นอกจากนี้กลุ่มรัฐมนตรีที่อาการน่าเป็นห่วง นั้นคือรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้คะแนนในกลุ่มรั้งท้าย โดยเฉพาะนายจุรินทร์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รอง นายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ได้คะแนนไว้วางใจ 241 เสียง ซึ่งน้อยถือเป็นคะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด เป็นการไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ครบ เพราะมี ส.ส.ชาติไทยพัฒนา 3 คน ลงมติงดออกเสียง รวมถึง ส.ส.กลุ่ม 16 ก็ไม่เทคะแนนสนับสนุนให้ทุกคน อาทิ นายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย ลงมติงดออกเสียง นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ลงมติไม่ไว้วางใจ ส่วนนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีปัญหาไม่ลงรอยกับ นายจุรินทร์มาตลอด ลงมติไม่ไว้วางใจ ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทย มี 3 เสียง ลงมติงดออกเสียงให้นายจุรินทร์ คือ นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ นายธนะสิทธิ์ โคว สุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก ซึ่งจะย้ายมาอยู่ภูมิใจไทย ส่วน ร.อ.ธรรมนัส และ ส.ส.ลูกพรรคคนอื่น ๆ ลงมติไม่ไว้วางใจ
โดย ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลที่ลงมติงดออกเสียง และไม่ไว้วางใจ ให้เหตุผลว่า นายจุรินทร์ ยังไม่สามารถชี้แจงข้อเท็จในประเด็นที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านได้อภิปราย ทั้งปัญหาการทุจริตถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า หรือ อคส. ซึ่งนายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการ อคส. ระบุว่า การชี้แจงของนายจุรินทร์ กรณีการจัดซื้อถุงมือยางของ อคส.ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งตนทราบถึงข้อมูลเชิงลึกของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมานายจุรินทร์ไม่พยายามแก้ไขปัญหา ส่วนที่แก้ตัวว่าเป็นแค่บุรุษไปรษณีย์และไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งบอร์ด อคส. นั้นไม่จริง ยังไม่นับรวมการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพงที่นายจุรินทร์ไม่อาจชี้แจงได้ เรียกว่า งานนี้เหล่าบรรดา ส.ส.ลงคะแนนแบบไม่ไว้หน้า “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” กันเลยทีเดียว
แม้หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ยังยืนยันว่าจะยังไม่มีการปรับขบวนทัพในรัฐนาวา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้สร้างบาดแผลให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มิใช่น้อย ทั้งแผลเก่าที่กำลังใกล้สมานก็โดยฝ่ายค้านสะเก็ดขึ้นมา รวมถึงแผลใหม่ที่เปิดได้อย่างดุเดือด โดยเฉพาะความล้มเหลวในการทำงาน จริยธรรมของรัฐมนตรี และการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้น
ในห้วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่ถึง 6 เดือนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สิ่งที่ต้องกลับมาทบทวนอย่างหนักและต้องทำการบ้านอย่างหนัก นั้นคือการเรียกความ “ศรัทธา” และความ “นิยม” จากประชาชนให้กลับมาโดยเร็วที่สุด และสิ่งที่มักเกิดขึ้นจากการเรียกร้องจากบรรดา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล คือการ “ปรับ ครม.” เพื่อแสดงถึงความใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหา เพราะโจทย์ต่อไปที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐต้องเจอนั้นคือ “การเลือกตั้งใหญ่” จากประชาชนที่ลงคะแนนเสียงที่ผลสำรวจส่วนใหญ่ต่างให้ 11 รัฐมนตรี “สอบตก” จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้