เขียนวันที่
วันอาทิตย์ ที่ 31 กรกฎาคม 2565 เวลา 11:52 น.
“…หนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการเดินทางครั้งนี้ คือติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน ที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โดยเราได้รับการปูพื้นฐานความเป็นมาของพื้นที่ภูมิภาคนี้ด้วยการฟังบรรยายที่พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส ทำให้รู้ว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งทราบกันว่ามีชาวมุสลิมอยู่กันเป็นจำนวนมากนั้น ชาวพุทธและชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนก็ได้ตั้งรกรากอยู่ในดินแดนแห่งนี้มาเนิ่นนานพอสมควรเช่นกัน ก่อเกิดเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมอันหลากหลาย และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข…”
พิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาสใกล้ความจริง เป้าหมายเปิดใช้ปลายปีหน้าสู่ความเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของศาสนาอิสลามอีกแห่งหนึ่ง ตัวเชื่อมการท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้พหุวัฒนธรรม
เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีโอกาสได้ติดตาม ดร. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ด้านประสานการมีส่วนร่วม เพื่อไปศึกษาเส้นทางที่จะนำบรรดาทูตสตรีประจำประเทศไทย ไปเยี่ยมชมเส้นทางท่องเที่ยวพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส ปัตตานีและสงขลา ที่มีแผนว่าจะจัดขึ้นในช่วงกันยายน-ตุลาคมที่จะถึงนี้
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการเดินทางครั้งนี้ คือติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน ที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โดยเราได้รับการปูพื้นฐานความเป็นมาของพื้นที่ภูมิภาคนี้ด้วยการฟังบรรยายที่พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส ทำให้รู้ว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งทราบกันว่ามีชาวมุสลิมอยู่กันเป็นจำนวนมากนั้น ชาวพุทธและชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนก็ได้ตั้งรกรากอยู่ในดินแดนแห่งนี้มาเนิ่นนานพอสมควรเช่นกัน ก่อเกิดเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมอันหลากหลาย และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
พอเดินทางถึงพิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน ในอำเภอยี่งอจังหวัดนราธิวาส ที่อยู่ติดกับโรงเรียนประสานมิตรวิทยา ก็ได้เห็นการก่อสร้างโครงสร้างภายนอกเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว เป็นโครงสร้างอาคารแบบไทยท้องถิ่นใต้ ผสมกับลวดลายศิลปะมุสลิม ส่วนที่เหลือก็คือการตกแต่งภายใน โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างแจ้งว่าในราวปลายปี 2023 ก็จะสามารถให้บริการเปิดเข้าชมได้อย่างเป็นทางการ
สำหรับส่วนบริการหลักๆ ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญคือห้องเก็บคำภีร์อัลกุรอานโบราณ ที่จะจัดเก็บอยู่ในตู้กระจกนิรภัยแล้ว ยังมีส่วนเสริมอื่นๆ เช่นนิทรรศการแนะนำวิธีการบูรณะซ่อมแซมคัมภีร์โบราณ ซึ่งช่างที่ทำการซ่อมแซมจะต้องผ่านการฝึกมาอย่างดีได้รับการรับรองจากกรมศิลปากร เนื่องจากจะต้องเข้าใจถึงวัสดุที่แตกต่างกันของคัมภีร์อัลกุรอานแต่ละประเภท ไม่ว่าชนิดเปลือกไม้ กระดาษไปจนถึงหนังสัตว์
ส่วนรองลงมาก็จะเป็นห้องจัดแสดงหนังสือและตำราโบราณอื่นๆ ห้องการเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ห้องจัดแสดงอุปกรณ์และเทคโนโลยีโบราณ ต่อมาเป็นห้องละหมาดที่แบ่งออกเป็นชายหญิง และสิ่งที่มีครบครันคือ ระบบลิฟต์และทางลาดสำหรับผู้พิการใช้ล้อเข็น ตามหลักอารยสถาปัตย์
ในส่วนของตัวคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั้น เป็นที่ทราบกันว่าคัมภีร์อัลกุรอานมีความสำคัญเป็นศาสนสมบัติของชาวมุสลิมไม่แตกต่างจากคัมภีร์ไบเบิลของชาวคริสต์ หรือพระไตรปิฎกของชาวพุทธ แต่คัมภีร์โบราณของที่นี่ยังมีความสำคัญเหนือยิ่งกว่าความเป็นศาสนสมบัติทั่วไป
จากคำบอกเล่าของ นายมูฮัมหมัดนุทรี หะยีสาแม ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน Lutfi Haji Samae, the president of the museum และ นางฮัสซามี สาและ กรรมการบริหารโรงเรียน สมานมิตรวิทยาโรงเรียน ทำให้รู้ถึงที่มาของการรวบรวมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่ ปัจจุบันรวบรวมได้ 79 เล่มว่า เกิดขึ้นจากความศรัทธาของศาสนิกอย่างแท้จริง
โดยจุดเริ่มต้นที่เป็นที่รู้จักของคัมภีร์อัลกุรการโบราณที่คัดด้วยมือนี้ เกิดจากมีเศรษฐีชาวมาเลเซียมาบริจาคสร้างศูนย์การเรียนรู้และมอบคัมภีร์อัลกุรอานโบราณเล่มแรก มีการจัดสัมมนาทางวิชาการ และจากรายงานข่าวของ ศูนย์ข่าว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักข่าว “อิศรา” และทำให้ กรมศิลปากรเขตที่ 13 ที่สงขลาทราบข่าว จึงอยากจะมาขอช่วยอนุรักษ์ให้ถูกวิธี ซึ่งต่อมานักสิทธิมนุษยชนจากประเทศตุรกีที่มาเยี่ยมผู้เสียหายจากเหตุการณ์สึนามิ ได้มาพบเห็น จนสนับสนุนให้มีการบูรณะซ่อมบำรุง
“พอรัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้ประเทศตุรกีมาซ่อมบูรณะร่วมกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติและหอจดหมายเหตุของไทย จากนั้นผู้ที่ครอบครองอัลกุรอานโบราณเห็นเข้า ต่างก็พากันนำมามอบหมายให้ดูแล เพื่อให้เกิดการซ่อมแซม ทำปกใหม่อย่างสวยงาม และให้รวบรวมที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้”
“ภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ในอดีตเป็นเมืองท่าใหญ่ มีการเดินทางติดต่อค้าขายกันระหว่างอาณาจักรอยุธยา ศรีวิชัย ลังกาสุกะ นูซันดารา ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นเส้นทางเดินทางของนักเดินเรือชาวอียิปต์ เยเมน เปอร์เซีย ก่อนไปยังประเทศจีนก็จะแวะที่เมืองท่าแห่งนี้ แม้แต่ในสมัยออตโตมานตุรกีก็ยังมีการบันทึก เกี่ยวกับภาคใต้ของประเทศไทย”
“คัมภีร์อัลกุรอานที่นี่แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มตามที่มา กลุ่มแรกคือมาจากมาเลย์นูซันดาราหรืออาเซี่ยน กลุ่มที่ 2 มาจากอินเดีย กลุ่มที่ 3 มาจากประเทศจีน กลุ่มที่ 4 มาจากเปอร์เซีย กลุ่มที่ 5 มาจากอียิปต์ เยเมน กลุ่มที่ 6 มาจากสเปน Morocco กลุ่มที่ 7 มาจาก อียิปต์ แอฟริกา และกลุ่มที่ 8 มาจากอุซเบกิสถาน”
อายุของคัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่อยู่ที่นี่ มีความเก่าแก่ตั้งแต่ 150 ปีถึง 1,100 ปี โดยดูได้จากวัสดุที่ใช้ทำคัมภีร์ตั้งแต่ยุคที่เป็นหนังแพะยังไม่มีกระดาษ อายุมากกว่า 600 ปีขึ้นไป จนมาเป็นกระดาษที่ทำจากเปลือกไม้ เช่นกระดาษปาปิรุส ขึ้นมาถึงกระดาษที่นำเข้าจากยุโรปในศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะจากประเทศอิตาลี นอกจากวัสดุที่แตกต่างกันแล้ว ตัวอักษรและลวดลายประกอบก็บ่งชี้ถึงที่มาและอายุของคัมภีร์อัลกุรอานแต่ละเล่มเช่นเดียวกัน
สิ่งเหล่านี้ย่อมบ่งชี้ถึงความรุ่งเรืองและความเป็นศูนย์กลางการไปมาหาสู่กันของชาวมุสลิมในดินแดนภาคใต้มาอย่างยาวนาน เห็นถึงคุณค่าทางศาสนา ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ และศิลปศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องมากับคัมภีร์อัลกุรอานโบราณทั้ง 79 เล่ม ซึ่งเปรียบเสมือนแผนที่ทางวัฒนธรรมที่พาผู้ชมย้อนเวลาไปยังอาณาจักรต่างๆ ในโลกมุสลิม และในอนาคตพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกรุอานและมรดกวัฒนธรรมอิสลามอีกด้วย
“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีผู้มาเยี่ยมชมศึกษานับได้ 160,000 กว่าคนและเชื่อว่าเมื่อประเทศไทยฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย ก็จะมีนักท่องเที่ยวจากดินแดนอาหรับมาเยี่ยมชมเพิ่มมากขึ้น” ผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอานโบราณให้ข้อมูล
และสิ่งบ่งชี้อีกอย่างหนึ่งที่ผู้ดูแลคัมภีร์โบราณทั้งสองได้ถ่ายทอดก็คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ระหว่างชาวไทยพุทธ ฮินดู จีนและมุสลิมในท้องถิ่นนี้มาอย่างยาวนาน ซึ่งนอกจากเราจะได้เห็นมัสยิด วัด ศาลเจ้า อยู่กระจายปะปนกันในพื้นที่ต่างๆ แล้ว ยังได้เห็นสัญลักษณ์อันเป็นการอยู่ร่วมกันของคนต่างศาสนา ไม่ว่าจะเป็นยุคอดีตหรือปัจจุบัน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลไทยได้สนับสนุนให้สร้างพิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในความหลากหลายของกลุ่มเชื้อชาติศาสนาโดยไม่มีการแบ่งแยก
นอกจากนี้ ในอดีตนั้นยังมีตัวอย่างสะท้อนจากวัดถ้ำตลอด ใน ต.เขาแดง อ.สะบ้าย้อย จังหวัดปัตตานี พุทธสถานที่เชื่อกันว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุทธก่อนปีพุทธศักราช 2219 เป็นพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์ผสมผสานศิลปกรรมอยุธยาและศิลปะพื้นถิ่นภาคใต้ โดยเฉพาะภายในถ้ำทวดหยัง ยังมีรูปปั้นของทวดโต๊ะหยังเศรษฐีชาวมาลายู พี่บริจาคสร้างพระพุทธรูปในวัดแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่นับถือกันของชาวไทยภาคใต้ทั้งไทยพุทธและมุสลิม
ส่วนในปัจจุบันก็มีตัวอย่างของวัฒนธรรมของหมู่บ้าน ในชุมชนสะบ้าย้อยจังหวัดสงขลา ที่มีข้อตกลงกันของชาวบ้านให้มีการหมุนเวียนกันเลือกผู้ใหญ่บ้านที่เป็นไทยพุทธและไทยมุสลิมสลับกันขึ้นมาเป็นกำนันอีกด้วย
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลด้านประสานการมีส่วนร่วม กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้สัมผัสความงดงามที่ทรงคุณค่าของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในหลากหลายด้าน ทำให้มองเห็นเสน่ห์ของพื้นที่ รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ไม่ควรจะเห็นกันอยู่เพียงประชาชนในพื้นที่ แต่ต้องทำให้คนภายนอกเห็นความงดงามเหล่านี้ด้วย ดังนั้นขอยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติปักหมุดจุดหมายการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามความตั้งใจของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกด้าน
เขียนโดย มงคล บางประภา