เสือตัวที่ 6
คำว่า “ปาตานี” (Patani) หรือที่ในภาษามลายูถิ่นออกเสียงว่า “ปตานี” ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่ผู้อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิมและเป็นพื้นที่ของความขัดแย้ง ซึ่งกล่าวรวมๆ ได้ว่า คือพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคอาณาจักรปาตานีอันรุ่งเรืองเมื่อประมาณสี่ร้อยปีที่แล้ว ก่อนที่จะถูกสยามยึดครองประมาณต้นยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งต่อมามีการแบ่งพื้นที่นี้ออกเป็นเจ็ดหัวเมือง และแบ่งเป็นจังหวัดแบบปัจจุบัน กระแสความนิยมการใช้คำว่า ปาตานี ในภาคประชาสังคมและสื่อนั้น ขัดแย้งกับผลการสำรวจของ Deep South Watch ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในสามจังหวัดและสี่อำเภอ จำนวน 2,104 คน พบว่า 63 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าควรใช้ “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ในขณะที่ 15 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าควรใช้คำว่า “ฟาฎอนี” (ชื่อภาษาอาหรับของปาตานี) และมีเพียง 11.4 เปอร์เซ็นต์ ที่เห็นว่าควรใช้คำว่า “ปาตานี”
นักวิชาการตัวแทนกลุ่มมาร่า ปาตานี กล่าวว่า ปาตานี คือ พื้นที่ซึ่งเคยเป็น อาณาจักรปาตานีดารุสซาลาม ก่อนที่สยามจะเข้ามายึดครองในปี 2329 อาณาเขตของปาตานีครอบคลุมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลา (อำเภอเทพา จะนะ สะบ้าย้อย นาทวี และสะเดา ซึ่งเป็นอำเภอที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม) และยังรวมถึงรัฐกลันตันและตรังกานู ในบางช่วงเวลาอีกด้วย ด้วยเพราะสนธิสัญญาแองโกล-สยาม ปี 2452 ซึ่งทำให้รัฐกลันตันและตรังกานูตกเป็นของอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้รับเอกราชในฐานะส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียในปี 2500 ดังนั้น เมื่อพูดถึง ปาตานี ในการสนทนาหรือเอกสารต่างๆ จะหมายถึง พื้นที่ซึ่งครอบคลุมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลา (อำเภอเทพา จะนะ สะบ้าย้อย นาทวี และสะเดา ซึ่งเป็นอำเภอที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม)
หากแต่แท้ที่จริงแล้ว ปาตาเนียนคือพลเมืองของปาตานี โดยไม่สำคัญว่าเป็นชาติพันธุ์หรือศาสนาอะไร ในช่วงอาณาจักรปาตานีดารุสซาลาม นอกจากประชากรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวมลายูมุสลิมแล้ว ก็ยังมีชาวจีน ชาวสยาม ชาวยุโรป ชาวญี่ปุ่น ชาวชวา ชาวอาหรับ ชาวอินเดีย อีกด้วย มันจึงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม พหุชาติพันธุ์ และพหุศาสนา มาตั้งแต่ต้นในครั้งประวัติศาสตร์เลยทีเดียว หาใช่หมายถึงคนมลายูมุสลิมเพียงชาติพันธุ์เดียวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้อย่างที่คนบางกลุ่มที่กำลังสร้างความปั่นป่วนให้เกิดการเกลียดชังแบ่งแยกผู้คนออกจากกัน เพื่อหวังประโยชน์ทางการเมืองส่วนตนเฉพาะกลุ่ม ดังที่พยายามเสี้ยมสอนผู้คนในรุ่นต่อๆ มาให้เข้าใจคลาดเคลื่อน จนนำไปสู่ความแตกแยกแบ่งฝ่ายระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ต่างความเชื่อทางศาสนาไม่
นักวิชาการกลุ่มมาร่า ปาตานี ยังกล่าวต่ออีกว่า ดังนั้น เมื่อกาลเวลาได้เคลื่อนตัวมาสู่ยุคปัจจุบัน เมื่อพูดว่า เราจะต่อสู้เพื่อประชาชนชาวปาตานี เราหมายถึงการต่อสู้เพื่อทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นั่น และเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง แต่กระนั้นก็ตาม นักวิชาการกลุ่มนี้ ยังใช้ความเหนือชั้นทางสติปัญญาและการต่อสู้ทางความคิด โดยได้พยายามชี้ช่องให้เห็นเหตุผลของการต่อสู้กับรัฐอย่างแนบเนียนว่า เนื่องจากคนมลายู คือกลุ่มคนที่ต้องทุกข์ทรมานจากความขัดแย้งมากที่สุด มันจึงเป็นธรรมดาที่พวกเขา(ชาวมลายู) ให้ความสำคัญกับคนมลายู โดยให้เหตุผลที่ย้อนแย้งอีกว่า อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ไม่ได้ละเลยสิทธิและความมีอยู่ของคนกลุ่มอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในปาตานี ในขณะที่คำว่า ปาตานี ยังคงเป็นของแสลงสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและชาวไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งมองว่า ปาตานี มีนัยยะทางการเมืองของการแบ่งแยกดินแดน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดกลุ่มภาคประชาสังคมชาวมลายูได้พยายามใช้คำนี้ในชื่อองค์กร และการจัดงานต่างๆ จนทำให้คำว่าปาตานีเป็นที่แพร่หลายและสร้างความเข้าใจรับรู้ในความหมายที่พยายามสื่อให้เห็นถึงการแบ่งกลุ่มแบ่งผู้คนออกจากกันในวงกว้างมากขึ้น
ในขณะที่ ดร.ปรีดี มะนีวัน นักวิชาการท่านหนึ่ง กล่าวให้เห็นอย่างชัดเจน โดยให้สติและปัญญาแก่ผู้คนโดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ปลายด้ามขวานว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องอดีตที่อาจส่งผลต่อวิถีชีวิตปัจจุบันได้ ไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ประวัติศาสตร์ใดที่สร้างสรรค์ สามารถหนุนเสริมให้เกิดความศรัทธา หรือ “ตักวา” ต่อพระองค์อัลลอฮฺ ประวัติศาสตร์นั้นย่อมเป็นประวัติศาสตร์ที่บารอกัต (เป็นศิริมงคล) ส่วนประวัติศาสตร์ใดที่มิอาจหนุนเสริมศรัทธาหรือตักวาได้ ย่อมเป็นประวัติศาสตร์ที่ไร้สาระและไร้คุณค่าต่อชีวิต สำหรับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น จะมีอยู่ 2 ด้านทางประวัติศาสตร์ ก็คือ 1.ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (Local History) และ 2.ประวัติศาสตร์นบีและรอซูล (ศาสดา) (Rosul History)
สำหรับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้น ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง เพราะสิบคนเขียนก็อาจเขียนไม่เหมือนกัน บางคนเขียนเชิงสร้างสรรค์ ปลูกฝังแนวคิดสันติสุข ปรองดอง สามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายอย่างสันติในแบบพหุวัฒนธรรมอย่างเช่นในอดีต ในขณะที่ยังมีคนบางกลุ่มพยายามเขียนประวัติศาสตร์เชิงลบ ให้ร้ายสร้างความแตกแยกแบ่งฝ่าย สร้างความเห็นต่างในทุกรูปแบบนำไปสู่ความเกลียดชัง และชี้นำให้เกิดแนวคิดการต่อสู้กับผู้เห็นต่าง โดยปลูกฝังแนวคิดชาติพันธุ์นิยม (Nationalism) สร้างอคติ สร้างการไม่ยอมรับผู้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ก่อความขัดแย้งจนเกิดการต่อสู้ เข่นฆ่าผู้เห็นต่างและผู้มีแตกต่างทั้งหลายอย่างไร้เหตุผล และพยายามถ่ายทอดแนวคิดผิดๆ เหล่านี้ โดยแอบอ้างว่าเป็นอุดมการณ์ อันผิดเพี้ยนของตนเอง ไปสู่ลูกหลานคนรุ่นต่อๆ มาให้เข้าใจในประวัติศาสตร์และการต่อสู้ที่คลาดเคลื่อน ชี้นำให้เข้าใจว่า คนรุ่นปัจจุบันต้องเข้ามารับช่วงแบกภาระ รับผิดชอบต่อเรื่องราวของบรรพบุรุษในอดีตที่ได้กระทำหรือถูกกระทำมาอย่างไม่เป็นธรรม
แท้ที่จริงแล้ว ประวัติศาสตร์นบีและรอซูลต่างหาก ที่เป็นประวัติศาสตร์อันบริสุทธิ์ และสัจธรรม(บิลฮัก) ควรค่าแก่การศึกษา ยอมรับและนำไปปฏิบัติ เพราะพระองค์อัลลอฮฺ ทรงตรัสไว้เองผ่านคัมภีร์อัลกุรอาน และคัมภีร์ก่อนหน้านั้น (ที่มิได้มีการแก้ไขดัดแปลง) โดยประวัติศาสตร์นบีและรอซูลนั้น เป็นประวัติศาสตร์ที่นำเสนอข้อเท็จจริงเชิงสร้างสรรค์ ด้วยมีสาระสำคัญในการสร้างความรัก ความเมตตา ความปรองดอง ยุติธรรม เคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะมีความแตกต่างในด้านใด ทั้งยังชี้แนวทางสันติภาพแก่มวลมนุษย์ต่อการดำเนินชีวิตทั้งโลกนี้และส่งผลถึงโลกหน้าอย่างสันติ หากมนุษย์ต้องการแสวงหาสันติสุขที่แท้จริง ควรยิ่งกับการศึกษาเรียนรู้และยอมรับประวัติศาสตร์ของบรรดาท่านนบีและรอซูล เพราะเป็นประวัติศาสตร์สัจธรรมที่พระองค์อัลลอฮ์(ซ.บ.) ทรงตรัสเอง