วันอังคาร ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564, 17.45 น.
ศิลปะ วัฒนะธรรม ไร้ซึ่งพรมแดน เชื้อชาติและศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะคือสากล ศิลปะสร้างเมือง สร้างความรักระหว่างกัน สร้างความสัมพันธ์ในมวลหมู่มนุษยชาติ เราเชื่อมั่นอย่างนี้ เป็นการสนทนากันทุกครั้งที่มีโอกาสได้พบปะสนทนาและทำงานร่วมกันระหว่าง เอ็มโซเฟียน แห่งเบญจเมธา เซรามิก และอ้อม สรณ์ฉัตร ไกรนรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เดอะลิฟวิ่งอาร์ท จำกัด
จุดเริ่มต้นของการก่อเกิดงาน “WAU SPACE พื้นที่แห่งวิถีว่าว” ในครั้งนี้ เกิดขึ้นรวดเร็ว รุนแรง อ่อนไหว แผ่วพลิ้ว วาบหวาน กระซิบกระซาบด้วยแรงรักเชื่อมั่นและศรัทธา ตามท่วงทำนองเสรีของ “ลมว่าว”
กลุ่มเยาวชนและผู้มีใจรักอันโชติช่วงที่จะอนุรักษ์ไว้ซึ่งความงดงามของศิลปะและวัฒนธรรมพื้นถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา จากบริษัทเบญจเมธา เซรามิก จำกัด ร่วมกับ บริษัท เดอะลิฟวิ่งอาร์ท จำกัด ร่วมกันสานต่อศิลปะและวัฒนธรรมไร้ซึ่งพรมแดน จัดงาน“WAU SPACE พื้นที่แห่งวิถีว่าว” ซึ่งเป็นการจัดแข่งขันว่าวพื้นเมืองมลายู ในวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 ณ ทุ่งเดินดิน, เบญจเมธา เซรามิก ปาลัส จังหวัดปัตตานี ตั้งแต่ฟ้าสางถึงพระจันทร์กระจ่างฟ้า คือตั้งแต่เวลา 09:00-20:00 น.
เอ็มโซเฟียนได้ปรารภว่า “กลุ่มคนรุ่นใหม่และเยาวชนในพื้นที่มีความกังวลว่าจะเกิดการขาดช่วงของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ในการสานต่อองค์ความรู้เรื่องว่าวอันเป็นภูมิปัญญาอันยาวนานของคนมลายูหลายสายพันธุ์ว่าวเริ่มสูญหาย บ้างก็ถูกจดลิขสิทธิ์เป็นของชาติอื่นโดยที่ยังไม่ได้ลงมือรักษาไว้ด้วยซ้ำพื้นที่แห่งวิถีว่าว(WAUSPACE)คือพื้นที่ที่คิดว่าอาจเปรียบเป็นเสียงแอกของว่าวเบาๆให้ผู้คนได้หันมาสนใจอีกครั้ง กลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่มีความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากครูว่าวและพร้อมจะสานสัมพันธ์เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเชิงอนุรักษ์พร้อมๆกับการพัฒนาสายพันธุ์ว่าวมลายูใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์”ดังนั้น อ้อม สรณ์ฉัตร ซึ่งเป็นผู้ที่ชื่นชอบในศิลปวัฒนธรรมแบบพื้นบ้านอยู่แล้ว จึงร่วมผลักดันงานนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท), สำนักงานการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน หรือTCEB), สมาคมนักปั้นเมืองเทศกาลสู่ตลาดโลก (TIEFA: Thai International Events and Festivals Trade Association) และ บริษัท หาดทิพย์ จำกัด(มหาขน)
กิจกรรมหลักในงานคือการแข่งขันว่าวพื้นบ้านมลายู ประเภทบินสูง ประเภทสวยงาม และสร้างสรรค์ มี เวิร์คช็อปให้ร่วมสนุกสนานกันอย่างมากมาย อย่างการทำว่าวพื้นเมือง ที่เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเหลาไผ่ ผูกว่าวเพื่อขึ้นโครงว่าว ติดกระดาษและเขียนลาย จากนั้นก็ไปวิ่งว่าว ในพื้นที่เล่นว่าวกันได้เลย นอกจากนี้ยังมีวงว่าว ที่มีการเล่าเรื่องโดยบรรดาครูว่าวในพื้นที่ แวมิ สายบุรี, เปาะโซะ ปาแร่ะ และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการขึ้นว่าว ฟังเสียงแอก รำลึกอดีต ท่ามกลางแสงจันทร์ ของค่ำคืน 15 ค่ำ พระจันทร์เต็มดวง และปิดท้ายด้วยการดูหนังกลางแปลงถ่ายทอดเรื่องราวว่าว และ นกเงือก นกชนหิน ซึ่งเป็นสัตว์อนุรักษ์อีกด้วย
“WAU SPACE พื้นที่แห่งวิถีว่าว” จะถูกจัดขึ้นในวันขึ้น15ค่ำ เมื่อพระพระจันทร์กระจ่างฟ้าเต็มดวงซึ่งก็เป็นไปตามที่ครูว่าวได้บอกไว้ว่าเป็นคืนที่ลมดีบรรยากาศดีและอารมณ์ดีน้ำในร่างกายก็เอิบอิ่มดั่งน้ำในแม่น้ำมหาสมุทรที่เอ่อล้นดังนั้นผู้จัดจึงได้เลือกวันเสาร์ที่ 27มีนาคมศกนี้ซึ่งถือเป็นวันดีขึ้น 15ค่ำจันทร์เต็มดวง จึงชวนคนทุกรุ่นมาสานสัมพันธ์กันอีกครั้งโดยมีว่าวเป็นพาหนะเดินทางไปสู่ความสุขดั่งในอดีตและอีกหนึ่งเหตุผลที่ต้องรีบจัดงาน WAU SPACE ให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุดก็เพราะด้วยว่าครูว่าวหลายๆท่านก็เริ่มจะแผ่วพลิ้วอย่างเสรีไปกับลมว่าวที่เพรียกหาการกลับบ้านหลังจากเดินทางมายาวนานเราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรีบทำความรู้จักคารวะบรมครูว่าวทั้งหลายก่อนการเดินทางไกลของท่านเพื่อส่งต่อความรู้ต่างๆของว่าวมลายูให้กลับมาโบยบินในวิถีของเราอีกครั้ง เพื่อความยั่งยืนและเป็นมรดกของลูกหลานที่สามารถสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ต่อๆไป