เปิดแถลงการณ์ “ภาคีนักเรียนสื่อ” 5 มหาวิทยาลัย รัฐ-องค์กรสื่อ คุ้มครองการรายงานข่าวม็อบชุมนุม
วันที่ 23 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มภาคีนักเรียนสื่อ ประกอบด้วย ตัวแทนนิสิตนักศึกษา จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร, นิเทศศาสตร์ วารสารคอนเวอร์เจนซ์ มหาวิทยาลัยราชภัญพระนคร, วิทยาการสื่อสาร นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันออกแถลงการณ์ เรื่อง “เรียกร้องการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของสื่อมวลชน ในการรายงานข่าวการชุมนุม” มีเนื้อหาระบุ ดังนี้
สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม Restart Democracy – ประชาชนสร้างตัว หรือรีเด็ม (REDEM) ที่บริเวณท้องสนามหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2564 โดยเป็นการชุมนุมอย่างสันติ และมีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ได้ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังอาวุธ เช่น กระบอง แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนยางเข้าสลายการชุมนุม ส่งผลให้ประชาชน สื่อมวลชน ผู้ประกาศข่าว ช่างภาพ รวมถึงบุคคลในบริเวณใกล้เคียง ที่ไม่ได้เป็นผู้ร่วมชุมนุมต่างได้รับความเสียหายทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน จากการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก
ภาคีนักเรียนสื่อ อันประกอบด้วย สมาชิกจากสถาบันการศึกษา 5 แห่ง มีความกังวลใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ดังกล่าวและไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในการปิดกั้นและขัดขวางการทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงของสื่อมวลชนรวมถึงทำให้สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง จึงขอเรียกร้องต่อภาครัฐและองค์กรสื่อสารมวลชนทุกแขนง ดังนี้
1. เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงออกอย่างสันติย่อมได้รับการรับรองในสังคมประชาธิปไตย การสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ จึงขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวและยืนยันในหลักการข้างต้นให้ประชาชนรับทราบเสมอ
2. ขอประณามองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อันได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ที่ไม่ยืนหยัดเพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของสื่อมวลชนภาคสนาม
3. ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่งเสริมให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการชุมนุมทางการเมืองได้อย่างหลากหลาย ตรงไปตรงมา ทันต่อเหตุการณ์และโดยปราศจากการครอบงำ
4. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แสดงความรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม และพึงปฏิบัติต่อสื่อมวลชนด้วยความเคารพในเสรีภาพการรายงานข่าว
ภาคีนักเรียนสื่อขอแสดงความห่วงใยต่อผู้สื่อข่าวภาคสนาม ช่างภาพ และบุคลากรขององค์กรสื่อมวลชนทุกสำนักทุกแขนง ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรค แรงกดดัน และความอันตรายในการนำเสนอข่าวการชุมนุมทางการเมือง ขอแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียทั้งทางร่ายกาย จิตใจ และทรัพย์สินของสื่อมวลชนทุกคน อันเนื่องมาจากเหตุสลายการชุมนุม
ทั้งนี้ ภาคีนักเรียนสื่อหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สื่อมวลชนจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ส่งต่อข้อเท็จจริงได้อย่างเป็นอิสระ ถูกต้อง เหมาะสมตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและสาธารณประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญเพราะว่าข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน รอบด้าน และเป็นธรรม คือพื้นฐานของกระบวนการสันติวิธีที่สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างให้เกิดขึ้นได้