เมื่อคืนวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 เวลา 21.00 – 22.00 น. เหตุการณ์ความรุนแรงก็หวนมาสู่อำเภอตากใบอีกครั้งหนึ่ง โดยเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่บริเวณสถานีตำรวจน้ำพร้อมกัน 4 จุดคือ
จุดที่ 1 คือ ลานจอดรถทางเข้าท่าเทียบเรือยนต์ มีรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงและถูกเผา 3 คัน และรถกระบะของราชการเสียหาย 1 คัน โดยแต่ละคันได้รับความเสียหายจากลูกระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์
จุดที่ 2 คือ ถนนด้านหน้าของสถานีตำรวจน้ำตากใบ ห่างจากจุดที่ 1 ประมาณ 300 เมตร มีคนร้ายใช้ระเบิดไปป์บอมบ์และอาวุธปืน เอ็ม.16 ยิงและขว้างระเบิดสลับกันใส่อาคารด่านศุลกากร เจ้าหน้าที่ยิงต่อสู้กับคนร้ายนานประมาณ 10 นาที ก่อนที่คนร้ายจะอาศัยความมืดและความชำนาญพื้นที่หลบหนีไป จากการสอบสวนพบว่า คนร้ายมีจำนวนกว่า 10 คน โดยแยกกำลังออกเป็น 2 ชุด ชุดที่ 1 แฝงตัวเข้ามาบริเวณข้างกำแพงรั้วด้านขวามือ คนร้ายชุดที่ 2 แฝงตัวข้างรถยนต์ของชาวบ้านที่จอดอยู่บริเวณตรงข้ามประตูรั้วของสถานีตำรวจน้ำ คอยใช้อาวุธปืนยิงสกัดกั้นไม่ให้ตำรวจที่อยู่ภายในสถานีออกไปช่วยตำรวจซึ่งอยู่ด้านนอกอาคาร ผลการปะทะทำให้เจ้าหน้าที่โดนสะเก็ดระเบิดบาดเจ็บ 3 คน ซึ่งถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ล่าสุดอาการปลอดภัย
จุดที่ 3 คือ ถนนสายฮูมอลานัส – ตะปอเยาะ คนร้ายลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าจนหักโค่นขวางถนน จำนวน 6 ต้น โดยใช้ท่อแป็ปเหล็กหนัก 10 กิโลกรัมมัดไว้กับโคนเสาไฟฟ้า และจุดระเบิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน
จุดที่ 4 คือ ถนนสายหน้าร้านสะดวกซื้อ คนร้ายนำระเบิดแสวงเครื่องซึ่งประกอบขึ้นและใส่ไว้ในถังแก๊สหนัก 20 กิโลกรัมไปวางไว้กลางถนน และจุดชนวนระเบิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ก่อนที่จะอาศัยความมืดหลบหนีไป ได้โปรยตะปูเรือใบเป็นจำนวนมากบนถนนสายดังกล่าว
แม้เจ้าหน้าที่สอบสวนไม่ยืนยันว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการสร้างสถานการณ์ของผู้ก่อความไม่สงบ หรือเป็นการตอบโต้ของกลุ่มใด ด้วยสาเหตุใดและหวังผลอย่างไร แต่สังเกตได้ว่า การปฏิบัติการครั้งนี้มีการวางแผนโจมตีพร้อมกันหลายจุด และวางแผนการถอยหนีไว้อย่างดี จึงขอสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องการแสดงศักยภาพในการก่อเหตุรุนแรง จากการสอบถามผู้รับผิดชอบคนหนึ่ง ทราบว่าฝ่ายผู้เห็นต่างให้คำตอบแบบภาคเสธโดยบอกเพียงว่าไม่ใช่ฝีมือของกลุ่มของตน ผู้รับผิดชอบคนนั้นจึงสันนิษฐานว่า อาจเป็นฝีมือของกลุ่มที่ยังไม่เข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพ
การพูดคุยสันติภาพที่ตั้งแต่ปี 2557 ทางการได้เลี่ยงคำว่าสันติภาพโดยใช้คำว่าสันติสุขแทนนั้น มีความคืบหน้าบ้าง พลเอกวัลลภ รักเสนาะหัวหน้าคณะพูดคุยคนปัจจุบันให้ข่าวผ่านกรมประชาสัมพันธ์ว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม และ 1 เมษายน 2565 กับคณะผู้แทนบีอาร์เอ็น นำโดยอุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ซึ่งเป็นการพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 4 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมี ตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ด้วยนั้น ผลการพูดคุยฯ มีความก้าวหน้า ดังนี้
1) การรับรองเอกสาร General Principle หรือ “หลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข” ซึ่งกำหนดให้กระบวนการพูดคุยฯเป็นกระบวนการที่มีเกียรติและเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อบรรลุทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ตามแนวคิดชุมชนปาตานีภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของราชอาณาจักรไทยตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
2) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันใน “ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข” ด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติสุขในห้วงเดือนรอมฎอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างปลอดภัย และเพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่ โดยต่างฝ่ายต่างปฏิบัติอย่างเกื้อกูลกัน
3) ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยเรื่องบทบาทและขอบเขตหน้าที่การทำงานของคณะทำงานร่วมเพื่อขับเคลื่อนการพูดคุยในประเด็นสารัตถะ 3 คณะ ประกอบไปด้วย (1) คณะทำงานร่วมเรื่องการลดความรุนแรง (2) คณะทำงานร่วมเรื่องการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ (3) คณะทำงานร่วมศึกษาการแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยมีการมอบหมายบุคคลเป็นผู้ประสานงาน (contact persons) ของแต่ละคณะทำงานจำนวน 3 คนจากแต่ละฝ่าย (ดู https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/86346)
กล่าวได้ว่า “ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข” อันเป็นผลจากประชุมคณะพูดคุยฯแบบเต็มคณะครั้งที่ 4 เป็นการทดสอบความร่วมมือระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับฝ่ายแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ผลปรากฏว่า ระหว่างวันที่ 3-22 เมษายน 2565 บรรยากาศการใช้ความรุนแรงลดลงอย่างเห็นได้ชัด ได้มีการบันทึกเหตุการณ์รุนแรงโดยกลุ่มอิสระติดตามผลของข้อตกลงไว้ได้จำนวนรวม 38 เหตุการณ์ แต่เหตุการณ์ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับการสู้รบระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับฝ่ายบีอาร์เอ็น สังเกตว่าการมีกลไก “กลุ่มอิสระติดตามผลฯ” ดังกล่าว ทำให้ข้อตกลงดูจริงจังและน่าเชื่อถือมากขึ้น และอาจมีส่วนช่วยลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาด้วย (ดู https://www.bbc.com/thai/thailand-61268240) และเป็นเรื่องที่คณะทำงานร่วมเพื่อลดความรุนแรงจะสานต่อต่อไป
การเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกคราวหนึ่งคือการรวมกลุ่มเยาวชนในวันรายอที่ 3 (วันที่ 4 พฤษภาคม 2565) ที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จัดโดยสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (Civil Society Assembly For Peace – CAP) มีผู้เข้าร่วมนับหมื่นคน และมีการกล่าวคำปฏิญาณ (Ikrar) ซึ่งมีข้อความบางตอนดังนี้ “เราเยาวชนปาตานี ขอสัญญาด้วยนามของพระเจ้าว่า เราจะอาสาและเสียสละแรงกาย แรงใจ ทรัพย์สิน ความรู้ ประสบการณ์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมและพี่น้องประชาชน ด้วยความมุ่งมั่นและสำนึก เพื่อความสงบสุข เราขอสัญญาว่าจะปกป้องและช่วยเหลือความทุกข์ยากของประชาชน เพื่อไม่ให้มีการกดขี่ เราขอสัญญาว่าจะยืนหยัดและเชิดชูความยุติธรรมและมนุษยธรรม เราขอสัญญาว่าพร้อมที่จะรับใช้ศาสนา ชาติพันธุ์ และมาตุภูมิ เพื่อความเป็นหนึ่ง” (ดูhttps://www.youtube.com/watch?v=jTkuE9T6dP8)
ต่อมาฝ่ายความมั่นคงได้เชิญแกนนำที่ร่วมจัดการรวมกลุ่มดังกล่าวมาซักซ้อมความเข้าใจ (ดูhttps://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/109005-malayuidentity.html) ได้ความว่าเป็นการรวมตัวของเยาวชนมลายูมุสลิมชายแดนใต้ ซึ่งมีคำเรียกในภาษามลายูถิ่นว่า “เปอร์มูดอ” เพื่อประกวด “ภาพหมู่ชุดแต่งกายมลายู” แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคนมองว่า เห็นด้วยกับการมุ่งแสดงอัตลักษณ์มลายู แต่อาจมีการขับเคลื่อนงานการเมืองของกลุ่มผู้เห็นต่างรวมอยู่ด้วยในบางส่วน
ขอย้อนกลับไปหลังการรัฐประหารในปี 2557 ได้ไม่นาน รัฐบาลได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 230/2557 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 เรื่อง การจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้มีกลไกการทำงานใน 3 ระดับ ดังนี้ ระดับที่ 1 ให้มี “คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ระดับที่ 2 ให้มี “คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้” ซึ่งปัจจุบันมีพลเอกวัลลภเป็นหัวหน้าคณะฯ ระดับที่ 3 ให้มี “คณะประสานงานระดับพื้นที่” ซึ่งมีผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.กอ.รมน.) ภาค 4 เป็นหัวหน้าคณะประสานงานฯ
สำหรับการดำเนินงานในระดับที่ 3 ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 ได้จัดให้มีคณะประสานงานระดับพื้นที่ ซึ่งรู้จักกันในชื่อย่อ ว่า สล.3 (ไม่ทราบว่าย่อมาจากสำนักงานเลขานุการระดับ 3 ใช่หรือไม่) ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคประชาสังคมและจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ข้อตกลงที่เป็น “หลักการทั่วไปฯ” ดังกล่าวข้างต้น ได้กำหนดประเด็นสารัตถะในการพูดคุยไว้ 3 ประเด็น ประเด็นแรกเป็นเรื่องการลดความรุนแรง ประเด็นที่สองเป็นเรื่องการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ ประเด็นที่สามเป็นเรื่องการแสวงหาทางออกทางการเมือง การมี “กลุ่มอิสระเพื่อการติดตามผล” แม้จะยังไม่ใช่กลไกที่มาจากคณะทำงานร่วมเรื่องการลดความรุนแรงก็ตาม แต่ถือได้ว่าเป็นกลไกนำร่องในเรื่องนี้กลไกหนึ่ง การมี สล. 3 น่าจะเป็นกลไกที่มาเสริมในประเด็นสารัตถะที่สอง คือการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ แม้จะยังไม่ใช่กลไกร่วมก็ตาม
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ปัตตานี พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้จัดให้มีการประชุมประสานงานในพื้นที่ (สล. 3) ครั้งที่ 5/2565 พลโทเกรียงไกรยืนยันว่าเห็นด้วยกับการเปิดพื้นที่แสดงอัตลักษณ์มลายูมุสลิม ขณะเดียวกันที่ประชุม สล. 3 ได้พิจารณาเรื่องการต่อเวลาจากรอมฎอนสันติ โดยขยายต่อถึงห้วงเวลา อิดิลอัฎฮาสันติ และอาจมีข้อตกลงในเรื่อง “การเข้าพรรษาสันติ” ในโอกาสต่อไปด้วย ซึ่งสะท้อนการเคารพความหลากหลายของคนในพื้นที่ ที่ประชุมเห็นด้วยกับการสร้างพื้นที่สันติหรือพื้นที่ปลอดภัย แต่น่าจะแยกเรื่อง “รอมฎอนสันติ” และ “การเข้าพรรษาสันติ” ออกจากกัน เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ผลได้ชัดเจนขึ้น
ประเด็นสารัตถะประเด็นแรกในเรื่องความปลอดภัย น่าจะเป็นจุดร่วมทั้งของมุสลิม ชาวพุทธและฝ่ายความมั่นคงได้ดี ประเด็นสารัตถะประเด็นที่สองน่าจะอยู่ที่การมีพื้นที่กลาง (common space) ให้ทั้งมุสลิม ชาวพุทธและฝ่ายความมั่นคงได้พูดคุยแบบสานเสวนา (dialogue) อย่างเปิดกว้าง ปลอดภัย แม้จะเป็นความเห็นทางการเมือง เช่น ในเรื่อง เมอร์เดกา และ ออโทโนมี ที่ฝ่ายรัฐรับว่าไม่ค่อยเห็นด้วย หรือมองว่าผิดกฎหมาย ก็ทำได้แต่ขอเพียงอย่างเดียวว่า อย่าปลุกปั่นความเกลียดชัง อย่าชักชวนให้ใช้ความรุนแรง และอย่าดูหมิ่นศาสนาของผู้อื่นเพราะคงไม่มีใครชอบให้ใครมาดูหมิ่นศาสนาของตน แต่พอมาถึงประเด็นสารัตถะที่สามเรื่องการแสวงหาทางออกทางการเมืองนี่ซิ คณะทำงานร่วมจะทำหน้าที่ “ศึกษา” เพียงเท่านั้นหรือ หรือว่าจะ “ขับเคลื่อน” ได้ด้วย เพราะเรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องระดมความเห็นพ้องของคนจำนวนมาก และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็อยากระดมคนมาสนับสนุนความเห็นของฝ่ายตน
แต่ผมคิดว่าอย่าศึกษานานเกินไป ตอนนี้มีกระแสการรับรู้แล้วว่า รัฐราชการรวมศูนย์ไม่ใช่การบริหารราชการที่ดีที่สุด อันที่จริง รัฐประชาธิปไตยทั้งหลายเคยเป็นรัฐรวมศูนย์มาก่อน แล้วก็ค่อย ๆ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีปัญหาบ้างก็แก้ไขไป สุดท้ายรัฐประชาธิปไตยที่ให้อำนาจแก่ท้องถิ่นในการดูแลปัญหาของท้องถิ่นเองดูจะเป็นรูปแบบที่พิสูจน์ตัวเองแล้ว คนที่หลงเชื่ออำนาจนิยมก็ขาดความน่าเชื่อถือลงทุกที กระแสการรับรู้ดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่สร้างความหวังแก่คนจำนวนมาก ว่าเป็นไปได้ที่ฝ่ายการเมืองที่ทำงานกับฝ่ายประจำอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กันนั้นจะทำให้เกิดผลดีแก่กลุ่มเป้าหมายคือประชาชน
บทความลงหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 ฉบับหนึ่ง มีชื่อว่า “จาก ‘ชัชชาติ’ สู่เลือกตั้ง ผวจ.” และเสนอความเห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดที่แต่งตั้งจากส่วนกลางไม่ได้ยึดโยงกับพื้นที่โดยตรง ไม่กล้าทำตามเสียงของประชาชนในพื้นที่ ต้องรออนุมัติจากส่วนกลาง บางปัญหาต้องการการวางแผนและแก้ไขหลายปี แต่ “ผู้ว่าฯ” แต่งตั้งบางคนอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี เพียงเพื่อใช้เป็นทางผ่านสู่ตำแหน่งอื่น กระนั้นก็ดี มีเสียงแสดงความกังวลว่า จังหวัดที่จะเลือกตั้งผู้ว่าต้องมีความพร้อมด้วย โดยคิดในเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน มีคอลัมนิสต์อีกคนหนึ่งเขียนว่า จังหวัดที่มีรายได้สูง เช่น กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฯลฯ มักรั้งท้ายในเรื่องดัชนีความสุขของประชากร สู้จังหวัดที่ยากจนที่สุดอย่างแม่ฮ่องสอนหรือนราธิวาสไม่ได้ ที่รายได้ต่อหัวน้อยที่สุดก็ตาม แต่กลับมีความสุขมากที่สุด
ผมคิดว่าควรมีกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เหมือนกฎหมายกรุงเทพมหานคร แต่ต่างกันที่ว่าเป็นกฎหมายกลาง เขียนทำนองว่าจังหวัดใดมีความพร้อมในด้านเศรษฐกิจ และในด้านอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรม ให้ออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการลงประชามติเพื่อวัดความพร้อมทางการเมือง ถ้าประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดเห็นชอบในหลักการการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่ให้โอนย้าย “งาน คน และเงิน” จากราชการส่วนภูมิภาคสู่ราชการส่วนท้องถิ่น อย่างมีแบบแผนขั้นตอนภายในกำหนดเวลา 5 ปี ยกเว้นงานที่เกี่ยวกับความมั่นคง การคลัง และการต่างประเทศ และงานที่ต้องการความร่วมมือจากหลายจังหวัดเป็นสำคัญ ถ้าประชาชนโดยการออกเสียงประชามติเห็นด้วยในหลักการ ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมกับจังหวัด ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษของจังหวัดนั้น โดยมีแบบแผนขั้นตอนการจัดตั้งฯที่ชัดเจน แล้วเสนอขอประชามติอีกครั้งก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯอย่างเป็นทางการต่อไป
สำหรับชื่อตำแหน่งของหัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มาจากการเลือกตั้ง ขอเสนอให้ใช้ชื่อว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เพื่อให้หมายถึงผู้ที่มีอำนาจหน้าที่สูงสุดในการบริหารราชการในจังหวัด ส่วนตำแหน่งของผู้ที่ส่วนกลางจะแต่งตั้งให้มาช่วยบริหารราชการที่ยังขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ขอเสนอให้ใช้ชื่อว่า “ผู้กำกับราชการจังหวัด” เพื่อแสดงว่ามีอำนาจหน้าที่หลักในการสนองนโยบายส่วนกลางและการกำกับให้การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามกฎหมาย หากมีข้อพิพาทระหว่าง “ผู้ว่าฯ” กับ “ผู้กำกับฯ” ก็ขอให้องค์กรที่ไม่ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง เช่น คณะอนุญาโตตุลาการ คณะกรรมการกฤษฎีกาหรือศาลปกครองเป็นผู้วินิจฉัย
สำหรับสามจังหวัดในชายแดนใต้ อาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ การสงวนตำแหน่งทางการเมืองส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการศึกษาและวัฒนธรรม ไว้ให้แก่ชาวพุทธที่เป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่
ผมกำลังตั้งความหวังว่า ถ้ากรุงเทพฯที่ดีกว่าเป็นไปได้ จังหวัดอื่นที่พร้อมในด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและการเมืองย่อมดีกว่าได้เช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุขของประชาชนทั้งส่วนใหญ่และส่วนน้อย ทั้งรวยและจน ทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้และในจังหวัดอื่น ๆ
หมายเหตุ – ข้อมูลที่นำมาใช้เขียนบทความนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากฆอซาลี อาแว ศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้ ม. มหิดล
โคทม อารียา