เผยคดีเครือข่ายเทใจให้เทพาฯ ฟ้อง ‘ไก่อู’ ไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย
เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ศาลจังหวัดสงขลา นายหมิด ชายเต็ม เดินทางมาที่ศาล เพื่อฟังคำวินิจฉัยกรณีเป็นโจทก์ที่ 1 กับพวก รวม 4 คน ยื่นฟ้อง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ในคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2560 เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำกิจกรรมเดินเท้าจาก อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น) ซึ่งเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในตัว อ.เมืองสงขลา เพื่อเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา แต่ในช่วงบ่ายของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านผู้ร่วมกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองร่วมกันเข้าสกัดกั้นและใช้กำลังเข้าจับกุม จนนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน จำนวน 17 คน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
ต่อมา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทย ซึ่งออกอากาศไปทั่วประเทศ กรณีมีกระแสข่าวว่า นายมุสตาร์ซีดีน วาบา หรือแบมุส หายตัวไปหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมโดยระบุว่า “ทหารและตำรวจไม่ได้จับตัวไป แต่ท่านไม่ได้กลับบ้าน มีคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเหมือนที่สะบ้าย้อยที่ตอนแรกคิดว่าถูกจับตัวไป แต่ปรากฏว่าหนีไปเที่ยวกับผู้หญิงที่ไม่ใช่ครอบครัวของท่านที่สตูล อันนี้ตั้งข้อสังเกต ผมไม่ได้ว่าคุณแบมุสนะ” อีกทั้งยังได้กล่าวหาว่าชาวบ้านเครือข่ายเทใจให้เทพาไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ ลงไปนอนดิ้นอยู่บนพื้น และได้ใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่
นายมุสตาร์ซีดีน วาบา หรือ แบมุส และเครือข่ายเห็นว่าการกระทำดังกล่าวให้ร้ายแก่ตนเองและเครือข่ายจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ จึงยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดสงขลา
ต่อมา ศาลจังหวัดสงขลาพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของจำเลยโดยตรง ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มิใช่การกระทำในฐานะส่วนตัว จึงต้องไปฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวโดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดไม่ได้
ชาวบ้านซึ่งเป็นโจทก์รวม 4 คน ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ต่อมา ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษายืนตามศาลจังหวัดสงขลา จึงมีการยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาได้พิจารณาเพื่อวางบรรทัดฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับคดีนี้ต่อไป
ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่ง คำร้อง และขออนุญาตฎีกา เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 เพราะไม่เป็นกรณีที่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกัน หรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาศาลฎีกา ไม่เป็นกรณีที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาก่อน ประกอบกับพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วไม่อาจเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาของศาลฎีกา เป็นผลให้คดีดังกล่าวเป็นที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่