เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 07 มกราคม 2565 เวลา 22:01 น.
คนร้ายลอบวางระเบิดรถบรรทุกหกล้อของทหารพรานที่หนองจิก ปัตตานี เลือกจุดก่อเหตุช่วงซ่อมแซมของถนนสาย 43 แยกดอนยาง-มะพร้าวต้นเดียว ทำกำลังพลบาดเจ็บ 4 นาย ส่วนที่สายบุรี ยิงสารวัตรกำนันดับ
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 09.00 น.วันศุกร์ที่ 7 ม.ค.65 พ.ต.อ.คมกฤช ศรีสงค์ ผู้กำกับการ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี รับแจ้งเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดรถบรรทุกหกล้อของทางราชการ ขณะเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 4304 (ร้อย ทพ.4304) หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 นำมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เหตุเกิดริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 (ปัตตานี-หาดใหญ่) ช่วงดอนยาง-มะพร้าวต้นเดียว ในท้องที่ อ.หนองจิก หลังรับแจ้งจึงรีบนำกำลังรุดไปตรวจสอบ
ในที่เกิดเหตุพบจุดที่คนร้ายเลือกวางระเบิด เป็นช่วงที่มีการซ่อมถนนพอดี ซึ่งรถที่แล่นผ่านต้องชะลอความเร็ว โดยจุดนี้อยู่ห่างจาก ต.บ่อทอง อ.หนองจิก ประมาณ 1 กิโลเมตร
แรงระเบิดทำให้มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บ 4 นาย ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหนองจิก ทราบชื่อคือ
1.อส.ทพ ธีระ ลิมปสกุล มีอาการแน่นหน้าอกจากแรงอัดระเบิด
2.อส.ทพ.สุรศักดิ์ อุไรรักษ์ บาดเจ็บที่ตาข้างซ้าย
3.อส.ทพ.กรีฑาพล พรหมประดู่ อาการแน่น ปวดศีรษะ จากแรงอัดระเบิด
4.อส.ทพ.ปิยณัฐ พรรณดวง แน่นหน้าอกจากแรงอัดระเบิด
สอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 4304 จำนวน 6 นาย เดินทางด้วยรถยนต์บรรทุกหกล้อ ขนาดกลาง เพื่อไปรับสิ่งของและอุปกรณ์ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก ระหว่างทางบนถนนสาย 43 ช่วงดอนยาง – มะพร้าวต้นเดียว ซึ่งเป็นทางเบี่ยงและถนนกำลังซ่อมแซมอยู่ คนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวนได้จุดระเบิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าทำได้รับบาดเจ็บ และรถยนต์ได้รับความเสียหาย
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบในที่เกิดเหตุ พบระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิดแสวงเครื่อง ยังไม่ทราบภาชนะบรรจุและรูปการจุดชนวน โดยคนร้ายนำระเบิดมาซุกไว้ในกองดินริมถนน และจุดระเบิดขึ้นเพื่อสร้างสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่
@@ แม่ทัพสั่งเฝ้าระวังจุดซ่อมถนน ทางเบี่ยง
หลังเกิดเหตุ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจประจำพื้นที่เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ ตรวจสอบที่เกิดเหตุ และรวบรวมวัตถุพยานต่างๆ เพื่อติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการออกปฏิบัติภารกิจนอกที่ตั้ง โดยเฉพาะเส้นทางซ่อมแซมปรับปรุง รวมทั้งบูรณาการกำลังทุกภาคส่วนในการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจากพฤติกรรมดังกล่าวคาดว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมุ่งหวังก่อกวนสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความสูญเสียให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและทรัพย์สินทางราชการเป็นสำคัญ
@@ ยิงสารวัตรกำนันดับ 1
ช่วงเช้าวันเดียวกัน เกิดเหตุคนร้าย 2 คน มีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ลอบยิง นายอดุลย์ ฮารีบิน สารวัตรกำนัน ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เสียชีวิตหน้าบ้านเลขที่ 204 บ้านเจาะกือแย หมู่ 3 ต.ตะบิ้ง
โดยสารวัตรกำนันถูกยิงขณะจอดรถ เพื่อจะเดินขึ้นไปละหมาด กระสุนเจาะเข้าบริเวณศีรษะ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที ส่วนประเด็นและสาเหตุการสังหาร ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
@@ เปิด 2 สาเหตุไฟใต้คุโชนรับปี 65
สำหรับสาเหตุที่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาร้อนแรงในช่วงนี้ โดยมีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นเกือบทุกวัน เฉลี่ยวันเว้นวัน ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.ส่งท้ายปี 64 จนถึงปัจจุบันก็ยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นต่อเนื่อง สาเหตุหลักๆ มีอยู่ 2 ประการด้วยกัน กล่าวคือ
1.เป็นวาระครบรอบ 18 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา (ปล้นปืนครั้งใหญ่ 413 กระบอก เมื่อ 4 ม.ค.2547) ซึ่งถือเป็นปฐมบทไฟใต้รอบปัจจุบันที่มีเหตุรุนแรงรายวันเกิดขึ้นต่อเนื่องจากกลุ่มที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
2.ใกล้จะมีการเปิดโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขรอบใหม่ โดยจะมีการนัดพูดคุยกันครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ในวันที่ 11 ม.ค.ที่จะถึงนี้ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างคณะพูดคุยของรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช. และคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย อุสตาซ หีพนี มะเร๊ะ หรือ อนัส อับดุลเราะห์มาน แกนนำบีอาร์เอ็น
@@ จับตาป่วนหนักใกล้พูดคุยสันติสุขฯ
เป็นที่รู้กันดีว่า ช่วงก่อนการพูดคุยฯ หรือการเจรจาสันติภาพในเกือบทุกพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลก จะมีการโหมก่อเหตุรุนแรงจากทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย เพื่อต่อต้านกระบวนการสันติภาพ (เป็นฝีมือของพวกฮาร์ดคอร์ นิยมความรุนแรง ไม่ต้องการให้จับมือกัน) และอาจมีการก่อเหตุจากฝ่ายที่ร่วมโต๊ะพูดคุยเอง เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง ฉะนั้นยิ่งใกล้พูดคุยฯ ใกล้เจรจา เหตุรุนแรงจะยิ่งเกิดเยอะ
สำหรับการพูดคุยฯรอบล่าสุดนี้ เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี เพราะก่อนหน้านี้ชะงักไปเพราะโควิดระบาดทั้งในไทยและมาเลเซีย หัวข้อของการพูดคุย จะมีการสร้างความไว้วางใจ ด้วยการร่วมกันกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” บางพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ทั้งสองฝ่าย คือ รัฐบาลไทย กับฝ่ายที่เห็นต่าง ได้ทำงานร่วมกัน เป็นการทดลองนำร่องสันติสุข
แต่การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย หรือ safety zone ก็ถูกคัดค้านจากฝ่ายความมั่นคงบางกลุ่มด้วยเช่นกัน เพราะมองว่า หากไปยอมกำหนดพื้นที่ปลอดภัย จะเข้าทางฝ่ายก่อความไม่สงบ เนื่องจากถ้าทำสำเร็จ ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐก็จะได้เครดิต และแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีศักยภาพจริง แต่ถ้าไม่สำเร็จก็จะโทษฝ่ายรัฐว่าไม่มีประสิทธิภาพ ควบคุมพื้นที่ไม่ได้
ฉะนั้นจึงไม่ควรกำหนดพื้นที่ปลอดภัย เนื่องจากทุกพื้นที่ในประเทศไทยต้องปลอดภัยอยู่แล้ว โดยเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงาน ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองที่จะต้องจัดการ