เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 05 มกราคม 2566 เวลา 23:17 น.
เผาแล้วศพ “ทหารมูอัลลัฟ” หลังหลายฝ่ายพยายามเจรจาสุดความสามารถ ขอประกอบพิธีฝังตามหลักอิสลาม แต่ภรรยาเก่าไม่ยินยอม ขณะที่ภรรยาใหม่มุสลิมเดินหน้าฟ้องร้องตามกฎหมาย ด้านกรรมการอิสลามปัตตานี-ยะลา เผยมีทหาร-ตำรวจ “มูอัลลัฟ” จำนวนไม่น้อยในแต่ละปี ยอมรับส่วนน้อยรับอิสลามด้วยศรัทธา ส่วนใหญ่เพราะเสน่หาสาวมุสลิม เตรียมหารือกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยแก้ปัญหาผู้รับกรรมสิทธิ์ศพให้ชัดเจน รวมถึงทรัพย์สินและบำเหน็จบำนาญ แนะฝ่ายความมั่นคงคุมเข้ม “เจ้าหน้าที่มูอัลลัฟ” หวั่นกระทบแก้ปัญหาไฟใต้
ความคืบหน้ากรณีแย่งศพ ร.ท.สุรศักดิ์ หรือ “อามีน” ทหารมูอัลลัฟ (เปลี่ยนศาสนาจากพุทธเป็นอิสลาม) ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ซึ่งภรรยาเก่าและลูกที่เป็นคนพุทธ ได้ชิงตัดหน้านำศพออกจากโรงพยาบาลกลับไปจัดพิธีแบบพุทธทางที่วัดสะตือพระพุทธไสยาสน์ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยที่ภรรยาใหม่ซึ่งเป็นมุสลิมได้เข้าแจ้งความอายัดศพ โดยนำพินัยกรรมที่ ร.ท.สุรศักดิ์ สั่งเสียว่า จะต้องทำพิธีศพตามหลักอิสลามเท่านั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยติดตาม
ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 4 ม.ค.66 ดร.ทวัชชัย นิมา ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เผยถึงกรณีของทหารมุอัลลัฟจาก จ.ยะลา ที่ทางญาตินำมาทำพิธีศพตามหลักศาสนาพุทธใน จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า มีการเผาศพไปแล้วเมื่อเวลา 4 โมงเย็นของวันที่ 4 ม.ค. ทางตนก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากดุอาอ์และทำบุญให้ผู้ตาย หลังจากนี้ต้องให้มีกฎหมายบังคับสามารถอายัดศพได้รวดเร็วกว่านี้ จึงจะสามารถช่วยเหลือเคสแบบนี้ได้
“เราได้ประสานงานเต็มที่แล้ว โดยเข้าไปที่งานศพ 2 ครั้ง ประกอบด้วยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กอ.รมนจังหวัด ผู้สื่อข่าว รวมทั้งให้ฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้านเข้าไปคุย แต่ทางญาติเขาก็ไม่ยอม เราเพียงต้องการให้นำศพมาฝังไม่ได้ต้องการไปฟ้องศาล”
ดร.ทวัชชัย บอกอีกว่า กรณีนี้เป็นเคสระหว่างศาสนา ทุกคนต้องการทำตามความเชื่อ จึงเกิดความขัดแย้งกัน เพราะความเชื่อไม่มีอะไรตัดสินได้ นอกจากตัวเขาเอง คนที่ผิดที่สุดคือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และพยาบาลที่ไม่แจ้งการเสียชีวิตให้ภรรยามุสลิมที่เฝ้าไข้หน้าห้องได้ทราบก่อน กลับไปแจ้งทางฝั่งภรรยาเดิม และไม่ควรให้ย้ายศพออกจากโรงพยาบาล ต้องชัดเจนในประเด็นนี้
“ควรมีการปรึกษาทั้งฝ่ายกฎหมาย นิติกร อัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้มัจลิส (สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด) ออกแบบ ร่างระเบียบ เงื่อนไขให้ชัดเจน เป็นหนังสือ หนังสือรับรองโดยชอบธรรม มีการยอมรับและสามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมายทั่วประเทศ ตำรวจสามารถอายัดศพได้ตามกฎหมาย ให้มีอำนาจขั้นต้น เพราะเวลามีจำกัด (ศพมุสลิมต้องฝังภายใน 24 ชั่วโมงหลังเสียชีวิต) ไม่ต้องรอไปฟ้องศาล จะฟ้องศาลต้องใช้เวลาไปฟ้องตอนนี้ก็ไม่ได้ผลกลับมาแล้ว” ดร.ทวัชชัย กล่าว และว่า “เราทำเต็มที่แล้วกับหน้าที่ที่เราทำ”
@@ ปัตตานีมี “มูอัลลัฟ” กว่า 60 คนต่อปี
ด้าน นายซอลาฮุดดีน หะยียูโซะ เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี (กอจ.ปัตตานี) กล่าวถึงกรณีทหารมูอัลลัฟว่า เคสแบบนี้ที่เป็นปัญหามีเยอะ แต่ไม่ได้เข้ามาในระบบ จากข้อมูลที่มีเฉพาะปี 2564 มีผู้เข้ารับศาสนาอิสลามจำนวน 65 คน เป็นเจ้าหน้าที่ ทหาร-ตำรวจ 6 คน ปี 2565 จำนวน 60 คน เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ 6 คน จริงๆ มีข้อมูลมากกว่านี้หลายปีย้อนหลังด้วย
“นอกจากตรงนี้ยังมีเจ้าหน้าที่มูอัลลัฟที่ไม่ได้เข้าระบบอีกเยอะ และเป็นปัญหามากมาตลอด เชื่อว่าในอนาคตจะมีอีกเยอะ ที่เรารู้เนื่องจากพวกเขาจะต้องมาทำเอกสารความเป็นมุสลิมและเอกสารจัดการศพ ซึ่งเอกสารตรงนี้สามารถนำไปเปลี่ยนศาสนาใบบัตรประชาชนได้เลย และมีผลทางกฎหมาย”
นายซอลาฮุดดีน กล่าวอีกว่า เคสที่เป็นปัญหานี้ (ร้อยโทสุรศักดิ์) มีอะไรมากกว่าที่เรายังไม่ทราบ เพราะภรรยาบอกว่า ลูกสาวก็เคยมาและชวนพ่อกลับ แต่พ่อก็ไม่กลับ อยากอยู่ที่นี่ให้ภรรยาที่นี่จัดการศพ ก็ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่เคสต่อไปให้คิด สุดท้ายก็คงต้องเป็นไปตามศาลพิจารณา ก็เมื่อภรรยาแจ้งความแล้วต้องให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน เพราะอีกด้านมีทะเบียนสมรส ส่วนภรรยามุสลิมก็มีทะเบียนสมรสของคณะกรรมการอิสลาม ซึ่งกรรมการอิสลามก็ไม่ได้ออกสุ่มสี่สุ่มห้า กรรมการอิสลามออกตามกฎหมาย และเป็นข้อตกลงระหว่างมหาดไทยกับคณะกรรมการอิสลาม
“สิ้นเดือนนี้จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมประจำเดือนกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย มาคุยถึงการดูแลและสิทธิตรงนี้ใครเป็นผู้ได้รับกรรมสิทธิ์ เพราะเรายังไม่ทราบว่าหลังจากเสียชีวิตแล้ว มรดกตกทอดมีบำเหน็จบำนาญอะไร และนอกจากเรื่องการจัดการศพแล้วใครควรจะเป็นผู้จัดการมรดกไปเลย อันนี้คือประเด็นที่เราต้องคุยต่อไป”
@@ แนะคุมเข้ม จนท.มูอัลลัฟ หวั่นกระทบแก้ปัญหาไฟใต้
เลขานุการ กอจ.ปัตตานี กล่าวว่า ประเด็นลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ นายทหารขับเครื่องบินตกที่ จ.กาญจนบุรี ภรรยาเป็นคนยะลา สุดท้ายก็เคลียร์ได้นำศพมาทำพิธีทางศาสนาอิสลาม แต่เคสนั้นเขาหย่าเรียบร้อยแล้ว จบไปด้วยดี เรื่องนี้ที่เป็นประเด็น มีเรื่องของมรดกตกทอด เรื่องบำเหน็จบำนาญที่เป็นเรื่องใหญ่ ที่นี้ก็ต้องฝากไปถึงผู้บังคับบัญชาหรือกองทัพว่า จะพิจารณาอย่างไร กรณีแบบนี้กองทัพหรือรัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร อย่าให้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียว
“ได้ดูกฎเหล็กของหน่วยงานความมั่นคง ของกองทัพ เขาก็ห้ามอยู่แล้ว การแต่งงาน การมีครอบครัว โดยเฉพาะคนที่มีสามีอยู่แล้ว หรือเด็กสาวๆ และเด็กในพื้นที่บางคนก็ชอบคนในเครื่องแบบ ส่วนใหญ่มาหน้าตาก็ดีด้วย มาจากภาคอีสานขาวๆ ฝากไปยังรัฐบาลอยากให้มาทำงานในรูปลักษณะของเรื่องความมั่นคงจริงๆ แต่เรื่องนี้มันนอกเหนือจากความมั่นคงแล้ว หลายคนก็มีลูกมีเมียอยู่แล้ว แต่ประเด็นมูอัลลัฟ ถ้ายังอยู่พื้นที่ไม่ได้ย้ายไปไหนไม่มีปัญหา แต่หลังจากย้ายไปหรือเกษียนจะเป็นประเด็น”
เลขานุการ กอจ.ปัตตานี กล่าวอีกว่า สำหรับอิสลามไม่ได้ห้ามแต่งงานกับคนนอกศาสนา แต่เมื่อแต่งงานแล้วมีปัญหาก็ไม่สนับสนุน โดยเฉพาะในกรอบการแต่งงานของเจ้าหน้าที่ที่มาจากที่อื่น ต้นสังกัดก็ควรดูแล ในกรณีแบบนี้ควรเพิ่มวินัย
“ผมมั่นใจว่าคนในพื้นที่ก็ไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย การสร้างสันติภาพ มันก็ยิ่งช้า เพราะเหมือนกำลังกดขี่ผู้หญิงโดยตรง ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอด แล้วกลุ่มขบวนการก็จะนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นเงื่อนไขให้ขยายความต่อได้ ยิ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ปัญหา” เลขานุการ กอจ.ปัตตานี กล่าว
@@ ทหารส่วนน้อยรับอิสลามด้วยศรัทธา แค่เสน่หาสาวมุสลิม
มีข้อมูลอีกด้านจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ระบุว่า ในแต่ละปีจะมีเจ้าหน้าที่ทหารมาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ ทั้งทหารหญิงและทหารชายที่ได้เข้ารับอิสลามไม่น้อยกว่า 50 นาย แต่ในจำนวนนี้น้อยมากที่จะเข้ารับอิสลามด้วยความศรัทธา มีแต่ความเสน่หาหาหลงสาวและแม่ม่ายที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่
นายรุสดี บาเกาะ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา บอกถึงปัจจัยสำคัญที่ทหารยอมเข้ารับศาสนาอิสลามว่า อิสลามเป็นศาสนาที่ใสสะอาด มีศาสนกิจที่เรียบง่าย นับถือพระเจ้าอัลลอฮ์องค์เดียว และพิธีกรรมเกี่ยวกับศพก็เรียบง่าย อาบน้ำให้ศพ เรียกญาติๆ มาจูบหน้าผากอำลาศพ ห่อศพ แล้วก็นำไปฝัง ห้ามเกิน 24 ชั่วโมง นานไปทำให้ศพทรมาน เพราะศพที่ดีเขาเห็นภาพสวนสวรรค์แล้ว คนเป็นจึงต้องรีบนำศพฝังโดยเร็ว
ส่วนเคสที่กำลังดราม่าอยู่ขณะนี้ ทหารเข้ารับอิสลามมานาน 10 ปี แล้วแต่งงานกับแม่ม่าย ที่ อ.รามัน จ.ยะลา อยู่แบบสามีภรรยาถูกต้องตามกฎหมายอิสลาม และมีใบรับรองเข้ารับอิสลาม มีพินัยกรรมทางศาสนาอิสลาม ออกโดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา แต่เกิดเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวัน 1 ม.ค 66 ที่ผ่านมาและทางภรรยาเก่า (พุทธ) และลูกๆ ได้ทราบข่าวการเสียชีวิต จึงได้ไปรับศพของพ่อที่เป็นทหาร กลับไปทำพิธีศาสนาพุทธที่บ้านเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา จึงเกิดการแย่งชิงศพกันขึ้น ซึ่งทราบว่าทางญาติไทยพุทธได้ทำพิธีเผาศพไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา
“ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาได้ประสานงานตั้งวันแรกที่ทหารมูอัลลัฟเสียชีวิต ต่อสายไปยังคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา (ที่ตั้งโรงพยาบาล) ให้อายัดศพไว้ก่อน แต่ทางญาติพาหนี เปลี่ยนเส้นทางและรถขนศพ เพื่อไม่ให้ติดตามได้ จนถึงวัดที่อยุธยา จึงได้ประสานกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้กำนัน กอ.รมน.ในพื้นที่เป็นตัวแทนเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งได้ทำตามทุกวิถีทางแล้ว แต่ทางภรรยาเก่าและลูกๆ ไม่ยอม”
ในเมื่อเราพยายามทุกวิถีทางแล้ว ทางกฏหมายก็ให้ทางภรรยามุสลิมดำเนินการ ส่วนเรื่องศพ เรามอบให้อัลลอฮ์ เพราะสุดความสามารถของเราแล้ว บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ตายเป็นความประสงค์ของพระเจ้า อิสลามจะมองว่าร่างกายผู้ตายเจ็บ แต่ความประสงค์ของพระเจ้าอาจเป็นสวรรค์ของผู้ตาย” รองคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าว
@@ ภรรยามุสลิมเดินหน้าฟ้องร้องตามกฎหมาย
“ทีมข่าวอิศรา” ได้สอบถามไปยังญาติภรรยามุสลิมของ ร.ท.สุรศักดิ์ ทำให้ทราบว่า ทางภรรยามุสลิมได้ดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว เพราะไม่เห็นด้วยที่ภรรยาเก่านำศพไปทำพิธีทางศาสนาพุทธ ขัดกับพินัยกรรมของผู้ตาย
ญาติภรรยามุสลิมของ ร.ท.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เขาอยู่กับสามีถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฏหมาย อยู่อย่างมีความสุข เพราะสามีได้ตัดขาดจากการนับถือศาสนาพุทธแล้ว เข้ารับศาสนาอิสลามนาน 10 ปี จนถึงวันสุดท้ายเสียชีวิต ไม่ขอเรียกร้องทรัพย์อะไรจากผู้ตายเลย ขอแค่อย่างเดียวร่างที่ไร้ชีวิตของสามีที่เป็นอิสลาม แล้วมาฝังดินตามหลักศาสนาอิสลาม และทราบว่า ร่างถูกทำพิธีเผาที่วัดในอยุธยาแล้ว ก็ขอกระดูกของสามีมาฝังดินที่ไหนก็ได้ เพราะนั่นคือพระเจ้าประสงค์ให้เขาตายแบบนั้น และหลังความตายพระองค์เท่านั้นที่รู้