กระทรวงแรงงาน พิจรณาเตรียมปรับค่าแรงขั้นต่ำ 2565 ยันมีการปรับขึ้นแน่นอนหวังช่วยลดภาระประชาชน แต่ตัวเลขจะเป็น 492 บาท ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเสนอหรือไม่ ยังตอบไม่ได้แต่จะเร่งให้เร็วที่สุด
จากกรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้มีการยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้าง ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ พร้อมกับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินไป และการสร้างหลักประกันเป็นธรรมแก่คนทำงาน แก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ตามที่มีข่าวนำเสนอไปแล้วนั้น
ล่าสุด (28 มกราคม 2565) ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี – PMOC รายงานว่า หลังจาก คสรท. และ สรส. ได้เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือเรื่องความคืบหน้าการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ได้ข้อสรุปดังนี้้้
ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท
นายสุชาติ ยืนยันว่า จะมีการปรับขึ้นแน่นอน แต่ตัวเลขจะเป็น 492 บาทตามที่ คสรท. เสนอหรือไม่นั้น หรือเป็นเท่าไรยังตอบไม่ได้ แต่จะเร่งให้เร็วที่สุด
ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ
สำหรับเรื่องนี้ ทางการกระทรวงแรงงานจะพยายามไปหาแนวทางให้ แล้วจะมีการสั่งตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการเรื่องโครงสร้างค่าจ้าง เพื่อจะได้เลิกถกเถียงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้า จากนั้นจะปรับขึ้นโดยอัตโนมัติทุกปี
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำแต่ละจังหวัดในประเทศไทยได้ไม่เท่ากันซึ่งแบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม
โดยกลุ่มที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำน้อยสุดอยู่ที่ 313 บาท คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ส่วนกลุ่มจังหวัดที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำเยอะสุดอยู่ที่ 336 บาท คือ จังหวัดท่องเที่ยวอย่าง จ.ชลบุรี และ จ.ภูเก็ต
ปรับค่าจ้างลูกจ้างภาครัฐ ให้มีค่าจ้างที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
นายสุชาติ กล่าวว่า จะสั่งการให้ข้าราชการหาตัวเลขลูกจ้างในภาคราชการทุกกระทรวงทั่วประเทศ ว่ามีจำนวนเท่าไร เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้พิจารณาปรับค่าจ้างให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากลูกจ้างภาครัฐเกือบทั้งหมดเป็นลูกจ้างชั่วคราว เหมางาน แต่ได้ค่าจ้างต่ำ ไม่มีสวัสดิการใด ๆ
เรื่องการเบิกจ่ายเงินลาคลอดบุตรจาก 90 วัน เป็น 98 วัน
สำหรับการเบิกจ่ายเงินลาคลอดบุตรที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเพิ่มขึ้นจาก 90 วัน เป็น 98 วันนั้น เบื้องต้นตนได้ลงนามในการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมแล้ว และส่งให้ ครม. พิจารณาในสัปดาห์หน้า และจะเสนอต่อรัฐสภาเพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป
โดยสาระคือ สำนักงานประกันสังคมจ่าย 4 วัน นายจ้างจ่าย 4 วัน ส่วนการให้สามีลาช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตร 15 วันนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานขอเวลาไปศึกษาก่อน
ภาพจาก Brostock / Shutterstock.com
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี – PMOC