เหตุปะทะระหว่าง เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43, ทหาร และฝ่ายปกครอง กับกลุ่มผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ เกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 1 นาย ขณะที่ ผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบเสียชีวิต 2 ราย ด้านญาติผู้เสียชีวิตเชื่อ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวผู้ตายได้แบบมีชีวิต แต่จงใจวิสามัญฯ
พล.ต.ต. นรินทร์ บูสะมัญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า มีกลุ่มผู้ต้องสงสัยก่อเหตุความรุนแรงเข้ามาหลบซ่อนในพื้นที่ เพื่อเตรียมการก่อความไม่สงบ จึงได้นำกำลัง เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองเข้าปิดล้อม และเชิญหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วมเจรจา เพื่อเกลี้ยกล่อมเป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง แต่ไม่เป็นผล จึงเกิดการปะทะ
“ผู้ก่อความไม่สงบหลบซ่อนในบ้านหลังที่ได้รับแจ้ง 2 คน จึงได้ทำการปิดล้อม คนร้ายกลับวิ่งฝ่าออกมาจากบ้าน และใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่เป็นระยะ และหลบหนีเข้าป่า เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องยิงตอบโต้ จากการปฏิบัติทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 1 นาย คือ ร.อ. สุริยะ บินญาวัง ถูกกระสุนปืนยิงทะลุสะโพกด้านซ้าย” พล.ต.ต. นรินทร์ กล่าว
“คนร้ายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 ราย คือ 1. นายรอซาลี เจะเลาะ อายุ 40 ปี มีหมายจับ ป. วิอาญา 11 หมาย และ 2. นายมารวาน มีทอ อายุ 27 ปี มีหมายจับ ป. วิอาญา 3 หมาย นอกจากนี้ยังตรวจยึดอาวุธปืนเอเค 47 และเอเค 102 ของคนร้ายได้รวม 2 กระบอก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำไปตรวจพิสูจน์หาที่มา และประวัติการก่อเหตุต่อไป” พล.ต.ต. นรินทร์ กล่าวเพิ่มเติม
พล.ต.ต.นรินทร์ ระบุว่า สำหรับ ร.อ. สุริยะ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสายบุรี และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ปัจจุบัน มีิอาการปลอดภัยแล้ว
หลังเกิดเหตุ พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า เจ้าหน้าที่พยายามใช้การเจรจา และดำเนินการตามหลักกฎหมายแล้วแต่ไม่เป็นผล
“เราได้กำชับให้หน่วยใช้การเจรจาเป็นหลัก ทุกขั้นตอนต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด แต่กลุ่มคนร้ายกลับต่อสู้ เป็นผลให้ต้องยิงตอบโต้ ประวัติคนร้ายที่เสียชีวิตทั้ง 2 ราย พบเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับสั่งการ และระดับปฏิบัติการ ก่อเหตุต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะก่อเหตุสะเทือนขวัญฆ่า และเผาครอบครัวกิตติประภานันท์ เสียชีวิต 3 ราย เมื่อ 24 เมษายน 2564” พ.อ. เกียรติศักดิ์ กล่าว
พ.อ. เกียรติศักดิ์ ระบุว่า กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ขอบคุณประชาชนที่ช่วยแจ้งเบาะแสผู้ก่อเหตุรุนแรง และขอความร่วมมือประชาชน อย่าให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำผิด ทั้งการให้ที่พักพิง เก็บซ่อนอาวุธ หรือจัดหาเสบียง เพราะจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน ญาติคนหนึ่งของผู้เสียชีวิต (สงวนชื่อและนามสกุล) ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่ในกรณีที่เกิดขึ้นว่าอาจเป็นการจงใจ
“หากเจ้าหน้าที่จะจับเป็นก็สามารถทำได้ แต่ในกรณีนี้เห็นว่าตั้งใจวิสามัญให้เสียชีวิต พวกเราทำใจอยู่แล้ว เขาถูกกระทำมาตลอดจนต้องทำใจยอมรับกับความไม่เป็นธรรม เราได้ทำพิธีฝังศพนักรบของเราแล้ว เขาคือนักรบของพระเจ้า เขาจะได้รับการตอบรับจากพระเจ้า พิธีฝังศพของพวกเขาวันนี้มีชาวบ้านมาร่วมพิธีเยอะมาก ไม่รู้มาจากไหนบ้าง มีทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก” ญาติรายดังกล่าว ระบุ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11-12 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้หารือร่วมคณะผู้แทนของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยยกประเด็นการลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงว่าจะทำงานร่วมกัน และพึงพอใจกับผลการหารือ
เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบที่เกิดเหตุ หลังจากเกิดคาร์บอมบ์ ด้านหน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จังหวัดยะลา วันที่ 17 มีนาคม 2564 (เอพี)
การส่งตัวนักโทษ ก่อปฏิกิริยาตอบรับที่ไม่ดี
ในวันที่สองของการพูดคุยสันติสุข เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียได้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบชาวไทย 3 คน ซึ่งต้องหมายจับในคดีความมั่นคงหลายหมายให้กับทางการไทย ในห้วงเวลาเดียวกันกับที่ตัวแทนรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นเจรจากันในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นการส่งตัวนักโทษคดีก่อความไม่สงบอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในรอบ 25 ปี
ผู้นำภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า การส่งตัวผู้ต้องสงสัยทั้งสามคน “ทำให้เกิดความสงสัยในบทบาทของมาเลเซียในฐานะตัวกลางที่มีความจริงใจ… บนโต๊ะเจรจา”
“ประเทศที่เสี่ยงในการเข้ามามีบทบาทที่ต้องมีความเป็นกลางและไม่มีส่วนร่วมใด ๆ” นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ เดอะ ปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มประชาสังคม ตั้งอยู่ในจังหวัดยะลา กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์
เมื่อวันพฤหัสบดีนี้ นาย ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย กล่าวว่า การส่งมอบผู้ต้องสงสัยกลุ่มกบฏ 3 คน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเจรจาสันติภาพ เขากล่าวว่าทหารจับกุมทั้งสามคนและส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อดำเนินการและส่งกลับประเทศไทย
“ฉันไม่ได้รับรู้ในเรื่องการจับกุมมาก่อน แต่เพิ่งได้ยินเรื่องนี้ ตัวแทนของบีอาร์เอ็นไม่ได้ติดต่อฉัน เพื่อสอบถามอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเจ้าหน้าที่ไทยก็ไม่ได้ติดต่อมา” ราฮิม นูร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า “เรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการพูดคุยฯ และบทบาทของฉัน ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก”
“นั่นก็เป็นเรื่องที่ฉันได้ยินมา มันอยู่ในขอบเขตอำนาจของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อย่ามาถามฉันเกี่ยวกับงานของพวกเขา และพวกเขาไม่มีความจำเป็นต้องมาบอกฉันเรื่องงานของเขา” ราฮิม นูร์ กล่าว
เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อบีอาร์เอ็น เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งตัวนักโทษได้
นายอาเต็ฟ กล่าวว่าในขณะที่ไม่มีใครสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการเจรจาสันติภาพและการส่งตัวนักโทษ “ก็ไม่มีใครปฏิเสธความจริงที่ว่า ช่วงเวลาของการส่งมอบตัว ไม่ได้ทำให้มาเลเซียดูดีเลย”
เพราะถ้ามีอะไรขึ้นมา มันจะทำลายความน่าเชื่อถือของมาเลเซียและบทบาทระหว่างประเทศ” เขากล่าว
“ข้อกล่าวหาการก่ออาชญากรรมของผู้ต้องสงสัยทั้งสาม ก็ยังไม่ชัดเจน… วัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของฝ่ายความมั่นคงไทย ในพื้นที่ปาตานี (ชายแดนใต้) ก็เป็นที่ตระหนัก ในรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีรายงานข่าวในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ว่าจะมีการเจรจาของสองฝ่ายในเดือนมกราคม 2565 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดเหตุรุนแรงอย่างน้อย 15 ครั้ง แต่หลังจากการหารือ ไม่มีเหตุรุนแรง ที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต กระทั่งมีการปะทะในวันนี้ จากฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นับจากการปะทุครั้งใหม่ เมื่อเดือนมกราคม 2547 มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,300 คน