เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระราชทานคำแนะนำต่อยอด-พัฒนา ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ จ.นราธิวาส
เมื่อเวลา 12.14 น. วันที่ 22 มีนาคม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรงานผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ ณ อาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัด และพัฒนาการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ ตลอดจนผู้ผลิต และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ เฝ้ารับเสด็จ
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการแสดงนาฎศิลป์พื้นบ้านสามจังหวัดภาคใต้ อาทิ รองเง็ง ซึ่งเป็นการแสดงประเภทศิลปะการเต้นรำประกอบดนตรี ได้รับอิทธิพลแบบอย่างมาจากชาวยุโรป คือ ปอร์ตุเกส สเปน โดยเริ่มแรกจัดแสดงเฉพาะในวังเจ้าเมืองสุลต่านและบ้านขุนนาง เพื่อต้อนรับแขกหรือเวลามีงานรื่นเริงต่างๆ ภายหลังจึงได้แพร่หลายออกสู่ชาวพื้นเมือง
การนี้ ระหว่างเสด็จทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ภายในงาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปฏิสันถารกับผู้ประกอบการ และทรงมีพระวินิจฉัยพร้อมพระราชทานคำแนะแนวทางการพัฒนากรรมวิธี คุณภาพ ลวดลาย เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย ตลอดจนเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย
สร้างความปลาบปลื้ม และซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณแก่กลุ่มสมาชิกศิลปาชีพและผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง ในการนี้ยังทรงโปรดให้หน่วยแพทย์พระราชทานจากโรงพยาบาลตากใบ จ.นราธิวาส ออกหน่วยตรวจรักษาสุขภาพแก่ประชาชนด้วย
นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า เป็นมิ่งมงคลของกรมการพัฒนาชุมชน พี่น้องผู้ประกอบการ OTOP 14 จังหวัดภาคใต้ ในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาเสด็จทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ในครั้งนี้ ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาหัตถกรรมพื้นบ้านไทย ที่สืบทอดงานศิลปะเป็นเอกลักษณ์ของไทย ที่ทรงมีพระราชดำริจะอนุรักษ์ และฟื้นฟูงานศิลปะเหล่านั้นให้ดำรงอยู่ยั่งยืน นับเนื่องจากพระองค์ทรงมีโอกาสเสด็จฯไปทรงเยี่ยมชมผ้าไทย และงานหัตถกรรมพื้นบ้าน 3 ภูมิภาค โดยทรงมีพระราชวินิจฉัยแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและหัตถกรรมชุมชน จำนวนกว่า 195 ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในการเสด็จดำเนินเยือนกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวภูไทย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร
อันเป็นที่มาของพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และมีพระกรุณาธิคุณประทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่และสื่อความหมาย ถึงการส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ ชาวไทยทุกคน ไปสู่กลุ่มช่างฝีมือ กลุ่มทอผ้า ทั่วทุกภูมิภาค สร้างปรากฏการณ์ปลุกกระแสกลุ่มทอผ้า 4 ภาค และวงการผ้าไทยให้เกิดความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง ด้วยน้ำพระทัยของพระองค์ที่ทรงห่วงใยพี่น้องทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีพระประสงค์มาทรงงานที่จังหวัดนราธิวาส โดยการเสด็จเยือนพื้นที่ภาคใต้ ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 สืบเนื่องจากการเสด็จทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และทรงเยี่ยมประชาชน ทอดพระเนตรการทอผ้า ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ผ้าพื้นเมือง และงานศิลปหัตถกรรมภาคใต้ ณ โรงละคร สนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562
โดยในคราวนั้นทรงพระดำรัสแนะนำ ในการปรับปรุงต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จวบจนปัจจุบันผลิตภัณฑ์ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อเกิดการเพิ่มพูนรายได้ และคุณภาพ ได้อย่างดียิ่ง
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้า เครื่องแต่งกายและหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ในครั้งนี้ ได้รวบรวมสุดยอดฝีมือ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 4 – 5 ดาว ทั้งหมด 71 กลุ่ม/ผลิตภัณฑ์ แยกเป็นผลิตภัณฑ์ผ้า 53 กลุ่ม/ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม 18 กลุ่ม/ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการจัดนิทรรศการ และส่วนกิจกรรมการสาธิต โดยมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ โดดเด่น อาทิ
– ผ้ายกเมืองนคร กลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย นางวิไล จิตเวช ผ้ายกเมืองนคร ผ้าพื้นเมืองเอกลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช สวยงามแบบอย่างผ้าชั้นดีในหมู่คนชั้นสูง อัตลักษณ์สำคัญ คือ ดอกผ้าจะยกนูนขึ้นเห็นลายชัดเจน และมีความละเอียดประณีต กลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค เดิมทอผ้าฝ้าย ขนาด 2 หลา จำหน่ายในราคา 4,000 บาท เมื่อได้รับคำวินิจฉัยให้ทอสลับดิ้นเงิน ดิ้นทอง เปลี่ยนเส้นผ้าฝ้ายใช้เส้นนิ่ม และให้ใช้เส้นยืนสีดำ เส้นพุ่งสีน้ำเงินสลับดิ้นเงิน เมื่อนำออกจำหน่ายทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด จำหน่ายผ้าขนาด 2 หลา ราคาผืนละ 10,000 บาท ยอดจำหน่ายตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน 2562 ถึง เดือนมีนาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 880,000 บาท (55,000 ต่อเดือน)
– กลุ่มกระจูด บ้านทอนอามาน จังหวัดนราธิวาส โดย นางพัชรินทร์ บินเจ๊ะมิง และกลุ่มกระจูด บ้านโคกพะยอม จังหวัดนราธิวาส โดย นางเจ๊ะเสาะ แวฮูลู โดยการรับสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นกระเป๋ากระจูดที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระดำริให้จักสานกระเป๋าใบใหญ่ๆ ลายเล็กๆ ซึ่งทางกลุ่มก็ได้จักสานให้เป็นกระเป๋าแฟชั่นมากยิ่งขึ้น ใช้ได้ทุกวัยคงทนสวยงาม
– กลุ่มศิลปาชีพเครื่องปั้นดินเผา พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส โดย พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อให้เครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพเสริมแก่ราษฎรในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ ปี 2528 โดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เน้นการนำทรัพยากรธรรมชาติ วัสดุและแรงงานในท้องถิ่นเป็นหลัก
– ผ้าบาติก กลุ่มเยาวชนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส โดย นางสาวคอยรุนนีซาอ์ งานฝีมือที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์จินตนาการในการวาด เป็นผ้าเก่าแก่ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ยาวนาน เผยแพร่หลายในประเทศไทยตอนล่างมาหลายร้อยปี ปัจจุบันยังคงรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และภูมิปัญญาและมีการพัฒนาสานต่อให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง
– กลุ่มผ้าปักบ้านบือแรง จังหวัดนราธิวาส โดย นางสิติมา ดุรอแม ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มทั้งสิ้น 50 คน โดดเด่นด้วยการใช้ด้ายไหมที่สมาชิกย้อมสีเอง ฝีปักที่ละเอียดอ่อนประณีต และหลากหลายแบบ อาทิ งานลายธรรมชาติและงานฉายที่แสดงออกถึงเรื่องราว วัฒนธรรม ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย
– ผ้ายกดอกจันทน์กะพ้อ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกาหลง จังหวัดนราธิวาส โดย นางอำไพ โพธ์พันธุ์ โดดเด่นด้วยกรรมวิธีโบราณจำนวน 24 ตะกอโดยการยกเขาเก็บตะกอลายเพื่อคัดยกเส้นยืนบางเส้นขึ้นข่มบางเส้นลง และทอสอดเส้นด้ายพุ่ง ระหว่างกลางซ่องที่เปิดอ้าก่อเกิดเป็นลวดลายดอกจันทน์กะพ้อที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกจันทน์กะพ้อ พัฒนาเป็นลวดลายผ้ายก โดยใช้กระบวนการย้อมเส้นใยด้วยสีธรรมชาติทั้งหมด
– ผ้าเกาะล้วงทางช้าง บ้านสายบน ศูนย์ศิลปาชีพบ้านสายบน จังหวัดนราธิวาส โดย นางวรรณณี แสงมณี ผ้าฝ้ายทอสองตะกอทอลายขัดธรรมดาใช้ด้ายพุ่งสลับสีเป็นช่วงๆ พุ่งสอดเกาะเกี่ยวกับเส้นยืนให้เป็นเกิดลวดลาย สร้างสรรค์เป็นลวดลายผ้าทอที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตของคนในชุมชน เกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางที่มีลักษณะสูงชันคดเคี้ยวซิกแซกในการสัญจร ขึ้น-ลง บ้านสายบนเส้นทางดังกล่าวนี้เรียกกันว่า “ทางช้าง”
– กลุ่มศิลปาชีพย่านลิเภา จังหวัดนราธิวาส โดย นายยะโกะ สามาเต๊ะ จากพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีพระประสงค์ให้พสกนิกรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรายได้มีงานทำพร้อมกับสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ จึงได้มีพระราชดำรัสให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2519 เข้ามาส่งเสริมอาชีพการผลิตย่านลิเภาและพัฒนาฝีมือของตนเองจนได้เป็นครูศิลปาชีพเมื่อปี 2524
– ผ้าไหมยกดอกลายดาวล้อมเดือน กลุ่มทอผ้า บ้านท่ากระจาย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย นางอะ คชสวัสดิ์ กลุ่มทอผ้าของชุมชนชาวมุสลิม ปัจจุบันมีการทอผ้าไหมและผ้าฝ้าย ซึ่งมีผ้ายกดอกลายดาวล้อมเดือน ลายดอกเครือวัลย์ ราชวัตรโดม ดอกพิกุลล้อม เป็นผ้าพื้น ผ้าขาวม้า ผ้าทอที่นี่ยังคงทอด้วยกี่พื้นเมือง หรือกี่กระทบมือ
– ศิวะนาฎกนกไทย จังหวัดพัทลุง โดย นายยุทธพล ซุ่นเซ่ง ผ้าย้อมสีธรรมชาติชัยบุรี เมืองพัทลุง อันมีขั้นตอนที่เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ ก่อนจะเริ่มพิมพ์ลายผ้าแต่ละครั้ง จะต้องมีการไหว้ครูเพื่อบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีรูปแบบการวางลายและแบบผ้า ที่มีรูปแบบเฉพาะ เหมือนตำรายันต์พิชัยสงครามหรือรูปแบบการจัดทัพ
– ผ้าฝ้ายมัดหมี่ ย้อมสีธรรมชาติ วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านสะพานพลา จังหวัดสงขลา โดย นางสุวรรณี รักวิจิต ปัจจุบันมีสมาชิก 12 คน ผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่ม คือ ผ้าฝ้ายและผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติจากพืชในท้องถิ่น ทางกลุ่มได้ผลิตเป็นผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมสี หินลูกรัง ซึ่งจะได้สีโอรสที่สวยงาม ซึ่งเป็นสีที่ทางกลุ่มยึดเป็นสีหลัก
– กลุ่มผ้าทอ นิคมกือลอง จังหวัดยะลา โดย นางหนูเตียน ผันผ่อน เป็นกลุ่มแรกกลุ่มเดียวในจังหวัดยะลา ที่มีความพิเศษในการใช้เทคนิคการย้อมสีธรรมชาติจากท้องถิ่นอำเภอบันนังสตา 100% สู่การประยุกต์ลงบนผืนผ้าทอ
– ผ้าปะลางิง ศรียะลาบาติก จังหวัดยะลา โดย นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ผ้าทอมือพิมพ์ลายด้วยบล็อกไม้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบเห็นผ้าชนิดนี้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2472 ในขบวนรับเสด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คราที่เสด็จประพาสที่รัฐปัตตานี จากนั้นผ้ามรดกเมืองใต้นี้ก็สูญหายไป พร้อมกับการเลิกเลี้ยงไหมในภาคใต้ กลุ่มศรียะลาบาติก สืบสานภูมิปัญญาผ้าปะลางิง ให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสคุณค่ามรดกสิ่งทอจากปักษ์ใต้
– ผ้าทอจวนตานี กลุ่มทอผ้าบ้านตรัง จังหวัดปัตตานี โดย นางสาวสิริอร ทับนิล ด้วยการสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ที่ทรงส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพเสริมด้วยการทอผ้า ผ้าทอลายจวนตานี หัตถศิลป์บนผืนผ้าที่บอกเล่าเรื่องราวตำนานเส้นสาย มี 5 ลาย ได้แก่ ลายกอซัง ลายก้นหอย ลายปักเป้า ลายดอกศรีตรัง และลายโคมไฟ แต่ละลายมีแถบสีคั้นอยู่ 7 สี 7 เส้น ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านตรัง
สำหรับ งานผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ จัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อเผยแพร่ผลงานของสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสนองพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีพระทัยมุ่งมั่น ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่ออนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่นมิให้สูญหายไปจากแผ่นดิน อีกทั้งยังก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ราษฎรให้มีความแข็มแข็งทางด้านเศรษฐกิจฐานราก