เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานอนุคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในกมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงรายงานการปฏิบัติงานของอนุฯ กมธ. ในการตรวจสอบปัญหาการละเลยหรือล่าช้าในการดำเนินคดีกับผู้ถูกคุมขังโดยศาล ว่า สืบเนื่องจากที่มีประชาชน จ.ยะลา ร้องเรียนต่อกมธ.กฎหมายฯ ว่า สามีถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำที่จ.ปัตตานีเป็นระยะเวลา 12 ปี เมื่อครบกำหนดระยะเวลาได้รับการปล่อยตัว ปรากฏว่ามีหมายจับอาญาของสภ.เมืองยะลามาขออายัดตัวและนำตัวไปดำเนินคดีใหม่โดยไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งการแจ้งข้อกล่าวหาหรือสอบปากคำ ซึ่งปัจจุบันคนๆ นั้นยังถูกจับกุมคุมขังอยู่ที่เรือนจำจ.ยะลา โดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งหลังจากนั้นมาก็ยังมีกรณีเช่นนี้ต่อเนื่องมาตลอด นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ รวมถึงปัญหาของกฎหมายและข้อกำหนดข้อบังคับที่ปรากฏอยู่
นายอาดิลัน กล่าวต่อว่า อนุกมธ.จึงศึกษาและได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1.ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กำชับและตรวจสอบให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งที่ 419/2556 เรื่องการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวน การสอบสวน ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญาอย่างเคร่งครัด และลงโทษพนักงานสอบสวนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างจริงจัง โดยที่ประชุมอนุกมธ.สนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบฟ้องดำเนินคดีเจ้าพนักงานผู้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา 2.ขอให้กรมราชทัณฑ์และสตช.ร่วมกันแก้ปัญหาความล่าช้าในการสอบสวนคดีของผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังและอายัดตัวในคดีอื่น โดยให้พนักงานสอบสวนที่มอบหมายให้เรือนจำแล้ว ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีที่ตนเองไปอายัดไว้ที่เรือนจำ 3.ขอให้กรมราชทัณฑ์กำชับให้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเรือนจำและทัณฑสถานให้ดำเนินการอายัดผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังที่มีสำเนาหมายจับต่อศาลเท่านั้น เพราะที่ผ่านมามีการขออายัดตัวโดยไม่มีหมายจับอาญา 4.กระทรวงยุติธรรมควรเร่งรัดพัฒนาระบบ และกำหนดตัวชี้วัดในการนำข้อมูลทางคดีของผู้กระทำความผิดแต่ละรายในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอายัดตัวเข้าสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นข้อมูลที่กระทรวงยุติธรรมกำลังดำเนินการอยู่เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลกลาง
นายอาดิลัน กล่าวต่อว่า 5.ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการดำเนินการสำนวนคดีอาญา และการอายัดตัวผู้ต้องหาจัดอบรมบุคลากรเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ตรงกัน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการติดต่อประสาน 6.ทุกหน่วยงานควรปฏิบัติตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีการสะท้อนปัญหาที่พบมาโดยตลอดแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง 7.เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเรื่องหมายจับ โดยให้พนักงานอัยการกลั่นกรองและตรวจสอบการขอออกหมายจับก่อนที่ศาลจะพิจารณาออกหมายจับ และให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายความอาญาที่เกี่ยวข้องในเรื่องการที่จะฟ้องคดีบุคคลจำเป็นต้องมีตัวจำเลยหรือไม่ ในเมื่อจำเลยถูกขังอยู่ที่เรือนจำอื่น สามารถใช้กระบวนการทางออนไลน์ในการส่งตัวจำเลยได้หรือไม่
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่