เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม
“ในฐานะข้าราชการแผ่นดินปฏิบัติงานชายแดนภาคใต้ ขวัญกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญพร้อมกับความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายส่งเสริมให้ความรู้ชาวบ้านเข้าถึงสิทธิและกระบวนการยุติธรรม เพราะหลายครั้งประชาชนไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ จึงต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน”
นางสุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม หรือ “รองไก่” กล่าวย้อนถึงสมัยตอนรับราชการปลายด้ามขวาน ว่า ครอบครัวเป็นคน จ.ปัตตานี จึงเลือกรับราชการในหน่วยงานใกล้บ้าน ครั้งแรกบรรจุเข้ากรมราชทัณฑ์ ตำแหน่งนักวิชาการพัสดุ 3 เรือนจำกลางยะลา เมื่อเดือน พ.ย.2538 ก่อนโอนย้ายมา กรมคุ้มครองสิทธิฯ ในปี 2551 แต่ยังอยู่โซนทางใต้สุดของประเทศ ณ สำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จ.ยะลา ระหว่างปี 2551-55 ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องเรียน ร้องทุกข์ ช่วยเหลือ ให้ความรู้กฎหมายประชาชน
รองอธิบดีกรม เผยว่า บางครั้งการทำงานระหว่างภาครัฐกับชาวบ้านไม่ค่อยประสบความสำเร็จ สาเหตุขาดความเข้าใจกัน ยิ่งช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงยิ่งเกิดช่องว่างแต่เราเองต้องทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจว่าหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือ เปิดใจพูดคุยกัน จึงพยายามทำงานเชิงรุกลงพื้นที่ให้ความรู้ชุมชน ทุกอำเภอ ทุกตำบล ผู้นำศาสนาก็มีความสำคัญและเจ้าหน้าที่รัฐด้วยต้องยอมรับความแตกต่างของพหุวัฒนธรรม เนื่องจากไม่ใช่คนในพื้นที่และไม่เข้าใจประเพณีบางอย่างเกี่ยวกับความเป็นอยู่
นอกจากนี้ ยังดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งผู้บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่รัฐได้รับบาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิต แจ้งสิทธิเยียวยาแก่บุคคลในครอบครัวหรือญาติ พร้อมช่วยงานประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หากบาดเจ็บจะส่งต่อไปหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยส่วนตัวรับราชการที่นั่น มาร่วม 5 ปี ถือว่าค่อนข้างดีกับเรา
กระทั่ง ปี 2555 ย้ายมากรมคุ้มครองสิทธิฯ ส่วนกลาง ในกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบการพิจารณาช่วยเหลือเหยื่อคดีอาญา 14 จังหวัดภาคใต้ สมัย พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ เป็นอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ และก้าวหน้าในงานราชการจนปัจจุบัน เป็นรองอธิบดี รับตำแหน่งวันที่ 17 พ.ย.2564
“กรมคุ้มครองสิทธิฯ” มีแนวทางช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล 4 ด้าน 1.การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม อาทิ ปรึกษาทางกฎหมาย รับเรื่องราวร้องทุกข์ 2.การได้รับการชดเชยความเสียหายโดยผู้กระทำความผิด ได้แก่ คำแนะนำในการยื่นฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กองทุนยุติธรรมสนับสนุนเงินว่าจ้างทนายความฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท เช่น รถชนคู่กรณีต้องรับผิดชอบ
3.การได้รับการชดเชยความเสียหายจากรัฐ คือ การแจ้งสิทธิและรับคำขอค่าตอบแทน ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ในคดีอาญา และ 4.การขอรับความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ได้แก่ การคุ้มครองพยานในคดีอาญา หรือ การประสานหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาทิ คนไร้ที่อยู่อาศัย เงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้ยากไร้, กระทรวงแรงงาน การประกอบอาชีพ , กระทรวงศึกษาธิการ เช่น ครอบครัวหนึ่ง ภรรยาเสียชีวิต สามีเลี้ยงลูก 2 คน หาเงินคนเดียว ต้องประสานช่วยเรื่องค่าเทอม ค่าอาหาร เป็นต้น เพื่อช่วยอยู่ในสังคมได้
ตัวอย่าง กรณี นางวัล (สัญชาติลาว) สามีเป็นคนไทย มีลูกสาว 2 คนแต่ไม่มีเอกสารยืนยันจากมารดา ทำให้ขาดสิทธิการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน โดย นางวัล ป่วยเป็นโรคเนื้องอกบริเวณหน้าอกเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ประสงค์ขอความช่วยเหลือจากกรมฯ เรื่องค่ารักษาพยาบาล และการได้รับสัญชาติไทยเพื่อสิทธิอื่นๆ ตามกฎหมาย ซึ่งสุดท้าย นางวัล เสียชีวิต เมื่อ ก.พ.64 แต่ครอบครัวของ นางวัล ได้รับเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง 3,000 บาท ต่อปี
รวมถึง บุตรสาวคนเล็ก ได้รับการช่วยเหลือด้านอาหารกลางวันและด้านอุปกรณ์การเรียน ค่าเล่าเรียนตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี ส่วนบุตรสาวคนโต ได้รับการช่วยเหลือด้านการมีงานทำจากกรมการจัดหางาน ปัจจุบันทำงานที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ
หรืออีกกรณี เม.ย.2564 เกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชน ภายในหมู่บ้านกฤษดานคร 31 ถนนบรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังฉีดน้ำอยู่ภายในอาคารและตึกทรุดถล่มลงมา ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิตและผู้พักอาศัยอยู่ในอาคารเสียชีวิต รวม 5 ราย และได้รับบาดเจ็บ รวม 7 ราย พร้อมจัดทีมให้ความช่วยเหลือแจ้งสิทธิและรับคำขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา
“แม้การรับราชการยังเหลืออีก 7 ปี ชีวิตการทำงานเดินทางมาไกลมากแต่ผู้เสียหายเกิดขึ้นทุกวันในสังคม ไม่มีวันหยุด ฉะนั้น การทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเราไม่สามารถพักได้ ยังพร้อมลุยงานเต็มความสามารถตามที่ได้รับมอบหมาย โดยใช้หลักพรหมวิหาร 4 ในการปฏิบัติงานยึดถือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา”
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วหลังเกษียณคิดไว้ว่าอยากสร้างห้องสมุดเล็กๆ นำของสะสมที่ระลึกในหลวง ร.๙ ทั้งภาพถ่าย หนังสือต่างๆ จำนวนเยอะมาก มาจัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจแก่เด็กๆ ได้ศึกษาที่บ้านเกิด
“จิบชาตราชั่ง”