ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) และอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาคนด้อยโอกาส
อังคารที่ 23 มีนาคม 2564 เวลา 11.13 น.
ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า ชั้น 1 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. อ.เมือง จ.ยะลา นายธวัชชัย นามสมุทร ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) และอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาคนด้อยโอกาส และขาดโอกาสทางสังคม โดยการแก้ไขปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรหรือไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาการตกสำรวจของทางราชการ การไม่แจ้งเกิด ความยากจน ความเชื่อเฉพาะถิ่น การถูกทอดทิ้งและการขาดความรู้ความเข้าใจทำให้ประชาชนบางส่วนกลายเป็นคนไทยไร้สัญชาติหรือไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ศอ.บต. กำหนดให้มีการจัดเก็บตัวอย่าง สารพันธุกรรม (DNA) จำนวน 3 ครั้ง ณ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี ซึ่งมีเป้าหมายบุคคลไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนและบุคคลอ้างอิง รวมจำนวน 500 คน โดยมีสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานสนับสนุนการจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA)
ขณะที่ ผศ.วรวีร์ ไวยวุฒิ รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า การตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎรไร้สถานะและประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎรระหว่าง วันที่ 23-25 มีนาคม 2564 ณ จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมการปกครอง ยุติธรรมจังหวัด มูลนิธิต่างๆ และภาคีเครือข่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต ได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาแก้ปัญหาสัญชาติหรือสถานะทางทะเบียนราษฎร เนื่องจากเป็นพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจึงมีความเชื่อมั่นในการพิจารณาให้ความเห็นของการได้มาซึ่งสัญชาติไทย แต่เนื่องจากการตรวจสารพันธุกรรมมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสูง จึงเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการตรวจสารพันธุกรรม
ทั้งนี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในบริการต่างๆ ของรัฐได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและทั่วถึงที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยลงพื้นที่จัดเก็บสารพันธุกรรมบุคคลทั่วประเทศ ในพื้นที่ภาคใต้ได้ร่วมสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนครั้งที่ 1 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี ตรวจสารพันธุกรรมราษฎรในพื้นที่จังหวัดยะลา 342 ราย จังหวัดปัตตานี 223 ราย รวม 565 รายครั้งที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมกับ กรมการปกครองตรวจสารพันธุกรรมราษฎรในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง สตูล พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส ยะลา พังงา และกระบี่ รวม 615 ราย ครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ 2562 ได้ร่วมกับยุติธรรม จ.นราธิวาส จำนวนรวม 40 ราย
ผศ.วรวีร์ ไวยวุฒิ รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในครั้งนี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีความยินดีที่ได้รับการประสานงานจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งขอรับการตรวจสารพันธุกรรม ให้กับประชาชน ซึ่งผ่านการพิจารณาโดยหน่วยงานปกครองในพื้นที่และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว จาก 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดยะลา 88 ราย จังหวัดปัตตานี 157 ราย จังหวัดนราธิวาส 179 ราย จังหวัดสงขลา 84 ราย และ จังหวัดสตูล 14 ราย รวม 518 ราย ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพการตรวจพิสูจน์ด้านนิติวิทยาศาสตร์เชิงบูรณาการเพื่ออำนวยความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ตามกิจกรรมการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎรไร้สถานะและประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร งบประมาณสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยการตรวจสารพันธุกรรมให้กับประชาชนในครั้งนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสารพันธุกรรม เพื่อหน่วยงานทางปกครองสามารถนำผลการตรวจไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาให้กับบุคคลที่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร ให้สามารถแจ้งเกิดหรือเพิ่มชื่อหรือแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร ให้มีรายการบุคคลได้ถูกต้อง อันเป็นการได้มาซึ่งสัญชาติไทยและได้รับสิทธิพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ ได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมต่อไป.
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
0%
-
ไม่เห็นด้วย
0%