ศบค.ยัน โอมิครอนกลายพันธุ์ BA.2 ยังไม่อันตราย จี้ฉีดเข็มกระตุ้น ชี้คลัสเตอร์น.ร.ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการร่วมกลุ่ม แข่งกีฬา กินไอศกรีมถ้วยเดียวกัน
เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เปิดผยว่า ที่ผ่านมาหลายคนอาจมีความตื่นตระหนกกับเชื้อโควิด-19 สายพันธ์โอมิครอน BA.2 เวอร์ชั่นล่องหน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเน้นย้ำว่า ยังไม่มีรายงานชัดเจนที่น่าเป็นห่วง
ขณะที่สธ. ติดตามสถานการณ์โลกและตรวจผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด แม้จะพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 เกิน 14 ราย แต่เบื้องต้นยังไม่พบความแตกต่างทางพันธุ์กรรมจากโอมิครอนเดิม แม้จะมีรายงานจากต่างประเทศว่าอาจจะทำให้มีการตรวจหาเชื้อได้ยาก แต่ทางสธ.รายงานว่ายังคงสามารถตรวจสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ได้ทั้งการใช้ ATK และ RT-PCR สิ่งสำคัญคือ ไม่มีรายงานความรุนแรงมากไปกว่าโอมิครอนเดิม โดยจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า สำหรับรายงานผู้ติดเชื้อ ยืนยันการตรวจ RT-PCR 8,450 ราย ถ้ารวม ATK จะไม่เกิน 1 หมื่นรายต่อวัน เสียชีวิต 28 ราย รักษาอยู่ในระบบอาการหนัก 528 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 102 ราย ทั้งนี้สำหรับผู้เสียชีวิต วันนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอีสาน ที่น่าสนใจใน 28 ราย พบว่า 15 รายไม่มีประวัติได้รับวัคซีน ได้รับเข็ม 1 และเสียชีวิตจำนวน 3 ราย ได้รับวัควีน 2 เข็ม แต่ไม่เกิน 6 เดือน 10 ราย โดยทางกรมควบคุมโรคเน้นให้เข้ารับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เพื่อให้สามารถป้องกันโอมิครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ส่วนการให้บริการวัคซีนทั่วประเทศ ณ วันที่ 27 มกราคม ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็ม 3 จำนวน 339,217 ราย คิดเป็น 19.3% ถือว่ายังน้อย อย่างไรก็ตามมีประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก โดยเฉพาะใน 7 จังหวัดที่ประชาชนได้รับวัคซีนไม่เกิน 60 % ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ตาก ลพบุรี ราชบุรี รวมทั้งกาญจนบุรี ซึ่งถือเป็นจังหวัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง” พญ.อภิสมัย กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า ยังมี 10 จังหวัดที่ได้รับเข็ม 2 ในกลุ่มเสี่ยง ตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน สระแก้ว นครสวรรค์ ลพบุรี ยะลา นนทบุรี พิษณุโลก สมุทรสงคราม ดังนั้นขอความร่วมมือชุมชนร่วมกันรณรงค์รับวัคซีน
สำหรับการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ วันที่ 27 มกราคม ได้รับการฉีดวัคซีน 84,568 โดส รวมสะสม 21,444,651 โดส ถ้าคิดเฉพาะเข็ม 3 เพียง 3 ล้านกว่าโดส ดังนั้นยังต้องช่วยกันเข้ารับเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันโอมิครอน โดยกรุงเทพฯ มีจุดฉีดวัคซีนจำนวนมาก แต่ถ้ามีผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงทางกรุงเทพฯ ขอความร่วมมือติดต่อไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง รวมถึงสำนักงานเขต จะมีการให้บริการหน่วยเชิงรุก CCRT ให้บริหารฉีดวัคซีนถึงบ้าน
ฝากทุกจังหวัดถ้าประชาชนมีความลำบากในการเดินทางไปฉีดวัคซีนขอให้ศบค. จังหวัดช่วยวิเคราะห์พื้นที่และอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ที่สำคัญวัคซีนเด็กมาถึงแล้วเมื่อวันที่ 27 มกราคม ภายในสัปดาห์หน้าสธ. จะกำหนดฉีดวัคซีนเด็กด้วย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ส่วนคลัสเตอร์สถานศึกษามีการระบาดหลายจังหวัด ดังนี้ จ.ราชบุรี น่าน เพชรบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ หนองคาย เลย ยโสธร และศรีสะเกศ โรงเรียนที่พบการติดเชื้อมีตั้งแต่โรงเรียนรัฐและเอกชน โรงเรียนที่เปิดสอนก่อนอนุบาล โรงเรียนประจำ โรงเรียนกีฬา โรงเรียนมัธยม ซึ่งแต่ละโรงเรียนที่พบรายงานการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนนั้น เบื้องต้นพบว่าโรงเรียนมีการกำหนดมาตรการที่เข็มงวดพอสมควร มีบุคลากรที่ฉีดวัคซีนครบถ้วน แต่ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ มักจะมาจากจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม เช่น การจัดแข่งกีฬา การจัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศ มีการรับประทานอาหารร่วมกัน มีการใช้ที่ตักไอศกรีม และใช้ถ้วยเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับการแพร่ระบาดในพิธีศพ พิธีการทางศาสนา
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้มีการวิเคราะห์กรณีการแพร่ระบาดของโรงเรียนหญิงล้วน ในจ.ราชบุรี ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ 311 ราย โดยโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนประจำ อนุญาตให้เด็กกลับบ้านในช่วงปีใหม่ เมื่อเด็กจำนวน 500 กว่าคน กลับมาจากสถานที่แตกต่างกัน โรงเรียนได้จัดให้มีการตรวจ ATK ตั้งแต่วันที่นักเรียนเดินทางกลับมา พบการตรวจเป็นลบทั้งหมด แต่เมื่อมีการตรวจ ATK เป็นครั้งที่ 2 พบว่ามีผลเป็นบวกครั้งแรก 120 ราย ซึ่งโรงเรียนปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินอย่างถูกต้อง คือแจ้งไปยังสาธารณสุขจังหวัด โดยโรงพยาบาล และทีมควบคุมโรคลงไปให้ความช่วยเหลือ มีการแยกกักผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง มีการเรียกตรวจ RT-PCR โดยพบรายงานผลเป็นบวกถึง 311 ราย จากจำนวนนักเรียนและครู 567 ราย ซึ่ง ขณะนี้มี นักเรียนเข้ารับการรักษาแล้ว 26 รายที่โรงพยาบาล และอีก 285 ราย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามแล้ว เบื้องต้นโรงเรียนได้ทำการปิดทำความสะอาด สอบสวนโรคแล้ว
“มีคำถามว่าการตรวจ ATK มีความแม่นยำเพียงพอหรือไม่ ต้องเน้นย้ำว่าการตรวจ ATK มีความสำคัญ แต่ต้องพึงระวังด้วยว่าสามารถเกิดผลลบลวง ประมาณ 5-7% หมายความว่าผู้ป่วยเป็นผู้ติดเชื้อ มีเชื้อในร่างกายแต่การตรวจด้วย ATK ยังไม่ไวพอ ทำให้ผลตรวจออกมาเป็นลบ ทาง สธ.แนะนำว่าแม้ว่าจะตรวจ ATK เป็นลบ ระหว่างที่ตรวจสอบประวัติพบว่าเดินทางมาจากหลากพื้นที่ มีการร่วมกลุ่มคนจำนวนมาก มีประวัติอยู่ใกล้ พูดคุยกับผู้ติดเชื้อมาก่อน ขอให้กักตัว และกรณีที่ตรวจ ATK เป็นบวก เป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ขอให้กักตัวเป็นเวลา 7 วัน” พญ.อภิสมัย กล่าว
รองโฆษก ศบค. กล่าวต่อว่า แนวทางการจัดการสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อโควิด -19 (ผู้ติดเชื้อเข้าข่ายและยืนยัน) มีดังนี้ ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ให้กักตัวที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน ตรวจสอบอาการทุกวัน ให้ตรวจ ATK ครั้งที่ 1 ในวันที่ 5-6 หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย พร้อมกับสังเกตุอาหารตนเอง 3 วัน ตรวจ ATK ครั้งที่ 2 วันที่ 10 หลังมีการใกล้ชิดผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย ทั้งนี้เมื่อพบการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์จำนวนมาก จนทำให้ผู้ปกครองลังเล ไม่มั่นใจให้ลูกหลานไปโรงเรียน ทาง สธ.และที่ประชุม ศปก.ศบค. มีความเป็นห่วง เน้นย้ำว่าเรายังต้องอยู่ร่วมกับโควิดอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าทิศทางนโยบายขององค์การอนามัยโลกก็ให้มีมาตรการที่ต้องอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ อีกทั้ง ศบค.ชุดใหญ่มีแนวโน้มผ่อนคายมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าความเสี่ยงจะลดลง ความเสี่ยงยังคงมี แต่เราจำเป็นต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้พี่น้องประชาชนสามารถดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติได้มากที่สุด
“กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. มีความเป็นห่วงและหารือร่วมกันอย่างเร่งด่วน เร่งกำกับติดตามมาตราการสถานศึกษาปลอดโควิด ซึ่งมาตรการมีอยู่แล้ว คือ มาตรการ 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มงวด แต่คงต้องเข้มงวด กำกับใช้ชัดเจน ให้สถานศึกษางดการทำกิจกรรมร่วมกลุ่มไว้ก่อน และขอให้โรงเรียน ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สาธารณสุขจังหวัด เข้าไปกำกับดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้เด็กกลับเข้าโรงเรียนต่อไปได้ “รองโฆษกศบค. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านระบบ Test & Go ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้เป็นการเริ่มลงทะเบียน หรือเริ่มให้นักท่องเที่ยวเดินทางมา และรัฐบาลมีการเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อย่างไร พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ จะเปิดอนุญาตให้ลงทะเบียน โดยจะมีการประเมิน ตรวจสอบคุณสมบัติ และประเมินต้องมีความเข้มงวด โดยกรมควบคุมโรคจะตรวจสอบหลักฐานการฉีดวัคซีน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาจะร่วมกับโรงแรม สถานประกอบการ ตรวจสอบว่านักท่องเที่ยวมีการชำระค่าที่พักหรือไม่ และที่พักนั้นผ่านมาตรฐาน SHA++ หรือไม่ การตรวจสอบจะใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน หลังจากนั้นนักท่องเที่ยวก็จะสามารถเดินทางเข้ามาได้ โดยนักท่องเที่ยวจะต้องดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เมื่อพบว่านักท่องเที่ยวติดเชื้อจะมีประกันคุ้มครอง ครอบคลุมการรักษา ซึ่งจะไม่เป็นภาระกับระบบสาธารณสุขของประเทศ ทั้งนี้ขอฝากพี่น้องประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตา หากเห็นนักท่องเที่ยวไปปฏิบัติตามกฎ ไม่สวมหน้ากากอนามัย พบสถานบริการทำผิด หละหลวมมาตรการ สามารถเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญเพื่อให้ตนและครอบครัวปลอดภัยได้