เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 05 พฤษภาคม 2565 เวลา 22:39 น.
เมื่อวันพุธที่ 4 พ.ค.65 มีภาพที่สร้างความฮือฮาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือภาพการรวมตัวกันของเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งมีการให้ข้อมูลตัวเลขกันถึง 30,000 คน ที่บริเวณชายหาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
ภาพนี้ดูเผินๆ เหมือนเป็นการรวมตัวชุมนุมเรียกร้องอะไรบางอย่าง ทำให้หลายคนให้ความสนใจอย่างมาก แต่จริงๆ แล้วเป็นการรวมตัวของเยาวชนมลายูมุสลิมชายแดนใต้ ซึ่งภาษาถิ่น ภาษามลายู เรียกว่า “เปอร์มูดอ” ในกิจกรรม Perhimpunan MalayS RAYA 2022 เพื่อประกวด “ภาพหมู่ชุดแต่งกายมลายู” โดยเป็นการรวมตัวเปอร์มูดอจากทั้งสามจังหวัดชายแดน คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จัดโดย องค์กรที่ชื่อว่า Civil Society Assembly For Peace หรือ CAP
การรวมตัวเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 13.00-16.30 น. ข้อมูลจากฝ่ายผู้จัดงานอ้างว่า มีเยาวชนที่แต่งกายตามอัตลักษณ์มลายูและวัฒนธรรมท้องถิ่นเดินทางมาร่วมถึง 30,000 คน กิจกรรมทั้งหมดเน้นความเป็นมลายูปัตตานี เช่น เพลงและวงดนตรี มีการถ่ายรูปร่วมกัน ก่อนแยกย้ายกลับบ้าน
นายนิติ นิเดหะ นายกเทศมนตรีเมืองตะลุบัน พร้อมคณะผู้บริหาร และนักกิจกรรมจำนวนมาก เข้าร่วมกิจกรรมและกล่าวต้อนรับสุภาพบุรุษทั่วสามจังหวัด
หนึ่งในเยาวชนที่ร่วมกิจกรรม กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ที่ได้ร่วมกิจกรรมลักษณะนี้ การรวมตัวของเยาวชนก็ไม่มีอะไรมาก เพื่อแสดงศักยภาพของกลุ่มเยาวชนที่มีพลัง สามารถร่วมทำกิจกรรมดีๆ ได้ พวกตนมีจุดยืนที่ชัดเจน กิจกรรมที่ทำกันมองว่าไม่ได้ไปทำร้ายใคร แค่เป็นการรวมพลังของเยาวชน แต่ละปีก็จะมีการเวียนกันไปแต่ละจุด อย่างที่ผ่านมาก็มีที่มัสยิดกลางปัตตานี ที่มัสยิดกรือเซะ ปีนี้มาที่หาดวาสุกรี
ข้อมูลจากผู้ร่วมกิจกรรม ระบุว่า ทุกๆ ปีในวันรายอที่ 3 ของอีฎิลฟิตรี (หมายถึงวันที่ 3 นับจากวันฮารีรายอ สิ้นสุดเดือนรอมฎอน) ถูกจัดเป็นวันแห่งการรวมตัวของเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปีนี้มีการปฏิญาณตนด้วยว่า “ข้าพเจ้าขอสัญญาว่า จะยกย่องและเชิดชูคุณค่าของความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
@@ ประเมินเบื้องหลังรวมตัวเปอร์มูดอ
หลังจากภาพการรวมตัวของเยาวชนมลายูมุสลิมถูกเผยแพร่ไปตามสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับกิจกรรมที่จัดขึ้น
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางหน่วยประเมินว่า จำนวนเยาวชนที่เข้าร่วม ไม่ถึง 30,000 คน แต่อยู่ที่หลักพัน จำนวนหลายพันค่อนไปทางหลักหมื่น มีช่วงอายุตั้งแต่ระดับมัธยมไปจนถึงอุดมศึกษา
เยาวชนกลุ่มนี้มีการจัดตั้งและทำกิจกรรมร่วมกันปีละหลายครั้ง มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนบางส่วน ฉะนั้นเยาวชนกลุ่มนี้จะมีบทบาทกับข้อเรียกร้องทางการเมืองในอนาคต ซึ่งจะมีการพุดคุยกันบนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนการรวมตัวกันล่าสุดจะมองว่าเกี่ยวข้องกับผลสำเร็จของโครงการ “รอมฎอนสันติ” ซึ่ง “บีอาร์เอ็น” ทำข้อตกลงลดปฏิบัติการทางทหารร่วมกับรัฐบาลไทยหรือไม่นั้น ยังไม่ชัดเจน มองว่าเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องก็ได้
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า ทราบตัวแกนนำที่จัดตั้งเยาวชนกลุ่มนี้ มีการแยกแกนนำเป็นกลุ่มย่อยๆ ประมาณ 40 กลุ่ม 40 สาขา และดูแลกันเป็นสายๆ แยกตามสาขา ก่อนนัดรวมตัวครั้งใหญ่กันเป็นระยะ
ขณะที่นายทหารระดับสูงในกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งมีบทบาทแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่า กิจกรรมรวมตัวเยาวชนมุ่งแสดงอัตลักษณ์มลายู แต่เป็นการขับเคลื่อนงานการเมืองของกลุ่มผู้เห็นต่างด้วย และน่าจะมีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลังในการขับเคลื่อน
@@ รวมตัวโชว์อัตลักษณ์ – รัฐพร้อมส่งเสริม
พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ถามว่าเยาวชนมารวมตัวเพื่ออะไร ถ้าเป็นเรื่องของการประชันชุดมลายูจริง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้วที่ให้ส่งเสริมอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ เพราะทุกภาคของประเทศไทยก็มีอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่อยู่ ถือเป็นเรื่องที่ดี
แต่ถ้าหากมารวมตัวกันแล้ว มีการดำเนินการหรือทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ทำอะไรที่ไม่ดี ก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้ามารวมตัวกันเพื่อทำในสิ่งดีๆ ก็ไม่น่ากังวล ยิ่งกว่านั้นก็ควรที่จะส่งเสริม ซึ่งก็ต้องดูพฤติกรรมนอกจากที่มารวมตัวกันแล้ว ยังมีกิจกรรมอะไรที่หมิ่นเหม่บ้างหรือเปล่า มีกิจกรรมที่กระทำแล้วผิดกฎหมายหรือเปล่า
ถ้าแค่รวมตัวกันเฉพาะประชาชนในเรื่องของอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นก็ถือว่าไม่ผิด ไม่เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง แต่ถ้าหากมีอะไรที่มากกว่านั้น มีความเกี่ยวข้องกับกับด้านความมั่นคง มันก็ต้องดู ซึ่งถ้ารวมตัวกันและทำสิ่งผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะทำได้