วันที่ 30 มีนาคม 2564 ห้องประชุม 901 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยพันตำรวจโท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายพินิจ ตันติวิญญูพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 3 และคณะ เร่งประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาประมงไทยภายใต้กฎหมายประมง
พลเอกวิทวัส เปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับทราบปัญหาเกี่ยวกับการทำประมงอย่างต่อเนื่อง จนได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค และผลกระทบของการทำประมงภายใต้กฎหมายประมงในภาพรวมของประเทศ ซึ่งหลายประเด็นมีการสืบเนื่องจากการออกกฎหมายหรือข้อบังคับให้รับลูกกับระเบียบ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated fishing) ที่กดดันประเทศไทยในช่วงปี 2558 แต่อาจไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้ลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงในโซนประมงภาคใต้ทั้งจังหวัดสงขลาและปัตตานีมาแล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมงในจังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งประมงสำคัญและมีชื่อเสียงของประเทศไทยนั้นซบเซาลงมาก จากข้อมูลของสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานีพบว่า เดิมในปี 2558 มีเรือกว่า 1,100 ลำ เข้า – ออก ในน่านน้ำปัตตานี แต่ในระหว่างดือนตุลาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2564 เหลือเพียง 437 ลำ มีผู้ประกอบการได้รับความเสียหายต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่อาชีพบนเรือจนถึงอาชีพบนฝั่ง เช่น พ่อค้าแม่ค้าตลาดปลา โรงน้ำแข็ง ห้องเย็น อู่ซ่อมเรือ และโรงกลึง ทั้งนี้ มีประเด็นปัญหาหลัก ได้แก่ 1) ปัญหาจำกัดวันทำการประมง – กรมประมงกำหนดวันทำการประมงไว้เฉลี่ย 240 วันต่อปี ในขณะที่ชาวประมงต้องรับภาระจ่ายค่าแรงคนงานเป็นรายเดือน นับเป็นจำนวน 365 วัน ซึ่งขณะนี้กรมประมงอยู่ระหว่างแก้ไขประกาศที่จะกำหนดวันทำการประมงเพิ่มขึ้น
อีกทั้งลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งไม่สะดวกในการเดินทางและไม่สะดวกในการทำธุรกรรม จึงต้องการรับเงินค่าจ้างแรงงานเป็นเงินสดมากกว่าผ่านบัญชีธนาคาร 2) ปัญหาแรงงานประมงขาดแคลน – การจ้างแรงงานต่างด้าวมีขั้นตอน กระบวนการ และระยะเวลาในการทำบัตรแรงงานค่อนข้างนาน ประมาณ 100 วันทำการ และมีค่าธรรมเนียมใบอนุญาตต่าง ๆ สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ค่อนข้างสูงกว่า 19,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการทำพาสปอร์ต 5,000 – 10,000 บาท อันเป็นภาระและค่าใช้จ่ายของนายจ้าง สมาคมการประมงจังหวัดปัตตานีจึงขอให้มีการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตลอดปี ซึ่งกรมประมงอยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาแก้ไขและที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อผ่อนคลายแนวทางการปฏิบัติแล้ว 3) ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม – ชาวประมงที่กระทำความผิดมีทั้งโดยไม่เจตนา หรือการลงเอกสารผิดพลาด หรือความผิดเล็กน้อย ควรพิจารณาบทลงโทษตามความเหมาะสมเพื่อเป็นการผ่อนคลายและยังทำให้ชาวประมงยังคงประกอบอาชีพต่อไปได้
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการขุดลอกร่องน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของจังหวัดปัตตานี ปัญหาการซื้อเรือออกนอกระบบ และปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลที่ลดลงอย่างรวดเร็ว
พลเอกวิทวัส กล่าวต่อว่า ในวันนี้ได้ประชุมหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง, นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า, พลเรือโท มนตรี รอดวิเศษ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.), นายวีระพันธุ์ ทองมาก ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, นายมนตรี มณีรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันชี้แจงปัญหา อุปสรรค และผลกระทบของการทำประมงในภาพรวมของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การจัดทำแผนแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่อาจสร้างภาระแก่ประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงในประเทศไทยให้สามารถสอดรับกับวิถีปฏิบัติจริง
รวมถึงสามารถบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรมประมงได้อย่างยั่งยืน สำหรับกฎข้อบังคับบางประการที่อาจเกี่ยวเนื่องมาจากระเบียบ IUU แล้วส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมงไทย รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในอาเซียนที่มักจะมีรูปแบบการทำประมงคล้ายคลึงกัน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เนื่องด้วยมีวิถีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันและสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานแต่อดีต
ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินไทยในฐานะที่มีบทบาทเป็น 1 ใน 5 คณะกรรมการบริหารของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ หรือ IOI จะนำข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะจากกรณีนี้เข้าหารือระหว่างองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศเสนอแนะการแก้ไขปัญหา IUU ไปยังคณะกรรมาธิการประมง (Committee on Fisheries หรือ COFI) ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) เป็นการสะท้อนถึงการรักษาและอนุรักษ์ไว้ซึ่งวิถีชีวิต ผลประโยชน์ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในภูมิภาคนี้
พลเอก วิทวัส กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ยั่งยืน ทั้งภาคประชาสังคมและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกันส่งเสริมองค์ความรู้และงบประมาณ
ด้านประมงท้องถิ่นในการสร้างศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจประจำถิ่น ส่งเสริมชุมชนชาวประมงในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้เหมาะสมกับถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำแต่ละชนิด ถือหลักการที่ว่าจับมาและต้องปล่อยไป เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำให้มีโอกาสเติบโตและขยายพันธุ์ต่อไป ทำให้ธรรมชาติและการประมงไทยอยู่คู่เคียงกันอย่างสมดุลยั่งยืน