เผยแพร่:
ปรับปรุง:
ปัตตานี – ปัตตานีจัดเวทีรับฟังชาวบ้านหาทางออกการขุดลอกอ่าวปัตตานีรอบใหม่ เพื่อแสวงหาทางออก
วันนี้ (22 มี.ค.) ที่บ้านบูดี หมู่ 4 ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ได้มีการจัดเวทีความต้องการของชาวบ้าน รับฟังปัญหากรณีสันดอนทรายจากการขุดลอกอ่าวปัตตานีอีกครั้ง หลังพบว่าการขุดลอกกลับได้รับผลกระทบตามมา จึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาอีกครั้งเพื่อแสวงหาทางออก
โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 จังหวัด, กรมเจ้าท่าปัตตานี, รองผู้ว่าราชการจังหวัด, นักวิชาการ, ตัวแทนชาวบ้านชาวประมงรอบอ่าวทั้ง 8 ตำบล มาร่วมรับฟัง และเสนอจากเวทีความคิดเห็นและรับข้อมูลจากประชาชนชาวประมง นักวิชาการ และเอ็นจีโอ ซึ่งครั้งนี้ได้มี นายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมธิการการกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษย์ชน ร่วมสังเกตการณ์ และรับฟังปัญหาของชาวบ้านด้วย
โดยที่ผ่านมาจากการขุดลอกนั้นไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากเกิดผลกระทบตามมา ประกอบด้วย การเกิดสันดอนทรายขนาดใหญ่ ส่งผลให้เรือประมงขนาดเล็กไม่สะดวกในการออกเรือหาปลา นอกจากนี้ระบบนิเวศฯ อ่าวตอนในเสียหาย สัตว์เล็กสัตว์น้อยสูญหายหมด อาศัยอยู่ไม่ได้ เนื่องจากเกิดมลพิษจากตะกอนทราย การทำมาหากินลำบากมากขึ้น สัตว์ทะเล ปลา หมึก กุ้ง หอยมีจำนวนลดลง และยังมีปัญหาด้านอื่นๆตามมา
ทั้งนี้การรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด ด้านกรมเจ้าท่าจังหวัดปัตตานี พร้อมรับปากกับประชาชนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร็ว และให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายอนันต์ แก้ววิเชียร ผอ.สำนักงานพัฒนา และบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 เปิดเผยว่า เราจะแก้ปัญหาเรื่องเนินทราย เพื่อหาทางออกให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งในเบื้องได้มีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำเครื่องมือการขุดลอก ในการข้นย้ายทรายออกไปบางส่วน อีกส่วนหนึ่งนำไปทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว และอีกส่วนนึงจะขนย้ายไปไว้บริเวณริมชายฝั่งเพื่อให้เกิดสาธารณประโยชน์ ในเรื่องของงบประมาณเราได้ขอความอนุเคราะห์จากผู้รับจ้างเก่าให้กลับมาดำเนินการ โดยไม่ได้ตั้งงบประมานใหม่และรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาด้วย
นายอันวา สาและ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า การจัดเวทีรับฟังปัญหาในครั้งนี้ มีความชัดเจนมากขึ้น จากการที่ลงไปฟังความคิดเห็นของชาวบ้านนั้น โดยมีข้อสรุป 4 ข้อ ประกอบด้วย
1) เขาไม่ต้องการสันดอนทราย ในเรื่องของการขุดลอกแล้ว เกิดปัญหาความไม่สะดวกในการทำมากิน ซึ่งส่วนนี้ต้องไปดูว่ากรมเจ้าท่านั้นจะดำเนินการได้เร็วที่สุดเมื่อไร
2) ในเรื่องของการใช้เครื่องมือประมงแบบผิดกฏหมาย ที่เป็นเครื่องมือส่งผลกระทบต่อลูกปลาเล็กในทะเล แต่ถ้าชาวประมงใช้เครื่องมือที่ถูกต้องแล้ว จากเดิมที่เคยหาปลาได้วันละ 2,000 บาทต่อวัน วันนี้ลดลงเหลือ 200 บาทต่อวัน ในส่วนนี้รัฐจะมีการดูแลรายได้ให้กับชาวประมงอย่างไรได้บ้าง และชดเชยได้อย่างไร
3) ชาวบ้านต้องการตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนในการดูแลการขุดครั้งใหม่ เช่น ชาวบ้านต้องการให้นักการเมืองระดับชาติเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ในเรื่องนี้จะต้องไปดูในข้อกฏหมายว่าจะเดินการได้หรือไม่และดูความชัดเจนอีกครั้งว่าอย่างไร ถ้าเป็นความต้องการของชาวบ้าน และไม่ขัดต่อกฏหมาย ทางเราก็ยินดี
4) การตั้งกองทุนเพื่อการดูแลเรื่องนี้ ผมเห็นว่าเป็นทางออกหนึ่ง เพราะมีการแก้ปัญหาทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยาว และร่วมถึงการฟื้นฟูที่ค่อนข้างจะนาน จึงต้องมีกองทุนไว้เพื่อช่วยชาวบ้านต่อไป