ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งนายกฯ ออกประกาศ บังคับใช้มาตรการควบคุมโควิด 10 จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
วันที่ 27 มิถุนายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ที่ 6/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ผู้อํานวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19
ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 12 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 นั้น
เพื่อให้การบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางการจัดเขตพื้นที่สถานการณ์ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 (2) ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับ การปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19 โดยคำแนะนำของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19 กระทรวงมหาดไทย
จึงมีคำสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการตามข้อกำหนดฯสำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่งนี้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
สั่ง ณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บัญชีรายชื่อจังหวัดที่กำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ แนบท้าย คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 6/2564 ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564
สำหรับสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว คือปิดสถานที่ก่อสร้าง ห้ามรับประทานอาหารในร้าน ห้ามรวมกลุ่มสังสรรค์ ห้ามจัดงานเลี้ยงรื่นเริง และห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ห้ามนั่งรับประทานในร้าน ให้ซื้อกลับได้เท่านั้น
ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัด ประกอบ 1. กรุงเทพมหานคร 2. นครปฐม 3. นนทบุรี 4.นราธิวาส 5. ปทุมธานี 6.ปัตตานี 7.ยะลา 8. สงขลา 9. สมุทรปราการ และ 10. จังหวัดสมุทรสาคร
- ราชกิจจาประกาศ คำสั่งล็อกดาวน์กรุงเทพ-ปริมณฑล 4 จังหวัดภาคใต้ มีผล 28 มิ.ย.
- นายก ส.ภัตตาคาร ตัดพ้อ “ล็อกดาวน์” ฟ้าผ่าซ้ำๆร้านอาหาร รอวันตาย