ภูมิภาค
ตามรอยผ้าไหมแห่งพุมเรียง “สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” อัตลักษณ์เฉพาะถิ่นแห่งเมืองไชยา
วันเสาร์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565, 13.17 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
นางอุรสา จินโต นายกเหล่ากาชาดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยสมาชิกเหล่ากาชาดและสมาชิกแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่ หมู่ที่ 2 ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ นางหวันดารา หวันมุดา และนางมารียะ หวันมุดา สองพี่น้องครอบครัวหวันมุดาที่เป็นครอบครัวที่ได้รับการสืบทอดการทอผ้าแนวอนุรักษ์นิยมจาก คุณทวดแหม๊ะเหรียม หวันมุดา (ต้นตระกูลสุลต่านสุไลมาน) ผู้ริเริ่มทอผ้าลายพระธาตุไชยา ลายคชสีห์ ลายโคมเพชร และลายสร้อยดอกหมากและอนุรักษ์การทอผ้าโบราณ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นตระกูลที่เก่าแก่ที่สุด ของ อ.พุมเรียง อ.ไชยา อีกทั้งเพื่อเป็นการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ” ตามพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา อีกทั้งรวมไปถึงเพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนอนุรักษ์ และสร้างจิตสำนึกในการสวมใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน
รวมไปถึงเมื่อครั้งในอดีต นางมาเรียม หวันมุดา มารดา ของนางหวันดารา หวันมุดา และนางมารียะ หวันมุดา ได้ทอผ้าไหมทอมือที่มีลายข้อความว่า “ทรงพระเจริญไชโย” ทอไว้เมื่อปี พ.ศ.2472 ในการรับเสด็จเมื่อครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินผ่าน มีข้อความเป็นแถวยาวซึ่งใช้วิธีการทอให้ได้ลายอักษรทำได้ยากและละเอียดมาก นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ และดำรงไว้ให้คนรุ่นหลังได้เชยชม
สำหรับผ้าพุมเรียง เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ที่มี อัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ของตำบลพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธา ที่มีวิธีการเฉพาะแบบของชาวไทยมุสลิม ที่อพยพมาจากเมืองสงขลา ปัตตานีและเมืองไทรบุรี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวมลายูในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ที่ได้นำกระบวนการ การทอผ้าติดตัวมาด้วย ถ่ายทอดสืบต่อกันมายาวนาน เพียงแค่วิธีการสังเกตจดจำและทดลองปฏิบัติทอจริงโดยไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ได้รับการสั่งสมภูมิปัญญาและสืบทอดกันมาสู่อนุชนรุ่นหลัง โดยเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
โดยความสวยงามของลายผ้าที่เป็นลักษณะเฉพาะที่มีความประณีต จากฝีมือการทอผ้ามีลักษณะเด่นแตกต่างไปจากผ้าทอมือของภูมิภาคอื่นๆ ด้วยวิธีการยกดิ้นเงิน ดิ้นทอง ที่กลายเป็นอารยะธรรมของชาวพุมเรียง คงความเอกลักษณ์แห่งผ้าทอ โดยลายดั้งเดิมเก่าแก่ของพุมเรียง ที่นิยมนำมาทอเป็นลายผ้ามีหลายลายอย่าง ลายยกเบ็ด ลายดอกพิกุล ลายคชสีห์ ลายราชสีห์ ลายครุฑ ลายกินรี ลายเทพพนม ลายเบญจรงค์ ลายศรีวิชัย ลายกริช ลายโบตั๋น ลายราชวัตร ลายก้านต่อดอก ลายผ้ายกเชิงครุฑ และลายนพเก้า ซึ่งช่างทอผ้าที่ตำบลพุมเรียงส่วนใหญ่ จะมีลวดลายต้นแบบที่ใช้เป็นตัวอย่างเก็บดอกผ้าเรียกว่า “ครูผ้า”เป็นผ้าที่ปักด้วยไหม เป็นลวดลายต่างๆ หรือเศษผ้ายกที่ช่างทอเก็บไว้แต่เดิม.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่