การเมือง
ชป.ยันแผ่นดินไหวที่ลาว 5.8 ไม่กระทบเขื่อนภาคเหนือ
วันจันทร์ ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564, 16.32 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศลาว ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านน้ำช้าง ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 เวลา 04.06 น. วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.8 ที่ความลึก 10 กิโลเมตร นั้นล่าสุดกรมชลประทาน โดยสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ได้เข้าไปตรวจสอบค่าอัตราเร่งสูงสุดที่มีผลกระทบต่อเขื่อนแล้ว พบว่าค่าอัตราเร่งสูงสุดที่เกิดขึ้น มีค่าเพียง 0.002866 g
ซึ่งค่าอัตราเร่งสูงสุดที่กรมชลประทานได้ออกแบบไว้ สามารถรองรับแผ่นดินไหว มีค่าไม่น้อยกว่า 0.2 g ดังนั้นค่าอัตราในครั้งนี้จึงเป็นค่าที่น้อยมาก และไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดน่าน อ่างเก็บน้ำน้ำพง อ่างเก็บน้ำห้วยแฮต อ่างเก็บน้ำน้ำแหง และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำฮิ จังหวัดพะเยา อ่างเก็บน้ำห้วยแม่งอน อ่างเก็บน้ำแม่ใจ อ่างเก็บน้ำแม่ปืม และอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ
จังหวัดเชียงราย อ่างเก็บน้ำแม่สรวย อ่างเก็บน้ำห้วยช้าง และอ่างเก็บน้ำแม่ต๊าก จังหวัดแพร่ อ่างเก็บน้ำแม่สอง
อย่างไรก็ตามกรมชลประทาน ได้ออกแบบเขื่อนทุกแห่ง ให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวไว้ด้วยค่าที่สูงสุดของความเสี่ยงในพื้นที่ประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจสอบและติดตามข้อมูลทางสถิติของค่าความเร่งสูงสุดที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาประเมินเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเขื่อน เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อน มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัยแข็งแรงของเขื่อนตลอดเวลา
เฝ้าระวังน้ำท่วมใต้ลุ่มน้ำปัตตานี
นายประพิศ เปิดเผยด้วยว่า ล่าสุดกรมชลประทานได้วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปัตตานีให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย24ชั่วโมง โดยการตรวจสอบอาคารชลประทานพร้อมใช้งานทั้ง 34 แห่ง งานกำจัดวัชพืช 3 แห่ง งานขุดลอก 7 แห่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 2 เครื่อง ณ โรงพยาบาลหนองจิก และจัดเตรียมเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 10 เครื่อง ตามมาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัย 2 กำหนด 1 จัดสรร คือ กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดคน และจัดสรรเครื่องมือ
ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานีได้ใช้เครื่องจักร เครื่องมือ และอาคารชลประทานที่มีอยู่ ทำการหน่วงน้ำ ผันน้ำ และตัดยอดน้ำ เพื่อควบคุมการระบายน้ำตามความจุของลำน้ำสายต่าง ๆ ลดผลกระทบต่อชุมชนบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำปัตตานี โดยใช้เขื่อนปัตตานีควบคุมการระบายน้ำลงแม่น้ำปัตตานีตามศักยภาพลำน้ำ ตัดยอดน้ำผ่านระบบส่งน้ำคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา และใช้ประตูระบายน้ำปรีกี ควบคุมการระบายน้ำผ่านแม่น้ำปัตตานีและคลองตุยงสลับเป็นช่วง ๆ ระบายน้ำลงทะเลผ่านแม่น้ำปัตตานีและคลองระบายสายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล โดยโครงการชลประทานปัตตานี และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานีได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี เขตอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยได้พบปะประชาชนและผู้นำชุมชนในพื้นที่ บูรณาการร่วมวางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ที่เกิดอุทกภัยต่อไป ณ บ้านจางา บ้านยืมโมะ หมู่ที่ 2 ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี บริเวณสถานีโทรมาตร X.275 บ้านบริดอ ตำบลปะกาฮารัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี อยู่ที่ระดับ +2.35 เมตร ร.ท.ก. ระดับน้ำล้นตลิ่ง 0.35 เมตร และเริ่มเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางส่วน ซึ่งไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่สำคัญและความเป็นอยู่ของราษฎรแต่อย่างใด และขอให้ประชาชนในพื้นที่ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อไป
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่