อารัมภบท
บทความนี้ไม่เป็นกลาง ผู้อ่านโปรดอ่านด้วยความระมัดระวังและตั้งแง่ เหตุการณ์ครบรอบ 18 ปี โศกนาฏกรรมกรือเซะ ผู้เขียนสังวรตัวเองว่ากำลังจะเขียนบทความในฐานะ “คนนอก” ดังนั้นจึงขอสงวนวิธีการนำเสนอเนื้อหาในลักษณะ “คิดแทน” “พูดแทน” เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เสียชีวิตและญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ เพราะการตีความของผู้เขียนอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเนื่องจากข้อจำกัดของผู้เขียนเอง[2] อย่างไรก็ดี หากมีบทสัมภาษณ์โดยตรงจากตัวความ ผู้เขียนจะหยิบยกนำมาเสนอเพื่อให้เข้าใจถึงนัยความสำคัญของวันที่ 28 เมษายนฯ มายิ่งขึ้น
หลังจากทบทวนวรรณกรรมเบื้องต้นเกี่ยวกับ “กรือเซะ” พบว่า วรรณกรรมหลักๆ ที่ถูกนำเสนอออกมาอาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม ดังนี้ 1) ประวัติศาสตร์บาดแผลเหตุการณ์โศกนาฏกรรมกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 2) ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและความเชื่อที่เกาะเกี่ยวกับมัสยิดกรือเซะ และ 3) กรือเซะกับการกลายมาเป็นพื้นที่ทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรม
ด้วยพันธะทางปฏิทินการครบรอบวันที่ 28 เมษายนฯ ผู้เขียนจึงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องหลักๆ กล่าวคือ เรื่องแรก เปิดบาดแผลทางประวัติศาสตร์บางส่วนขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าวันที่ 28 เมษายนฯ มีความสำคัญอย่างไร และ เรื่องที่สอง จินตนาการถึงการแปรเปลี่ยนจากศาสนสถานสู่การกลายมาเป็นพื้นที่ทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรม ผู้เขียนหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่างานเขียนฉบับนี้จะเป็นข้อต่อเล็กๆ ที่ช่วยต่อเติมให้เห็น “ชีวิต” ของผู้คนที่สัมพันธ์กับ “การมีชีวิต” ของกรือเซะควบคู่กันผ่านบทเรียนทางประวัติศาสตร์
1. ความเป็นมา
28 เมษายนฯ ถือเป็นวันครบรอบ 18 ปี นับแต่เหตุการณ์ยิงปะทะในมัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ไม่เพียงเท่านั้น หากเราหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปวันที่ 28 เมษายน 2491 เมื่อ 74 ปีก่อน จะตรงกับอีกเหตุการณ์สำคัญที่รัฐเรียกว่า “กบฏดุซงญอ” ซึ่งก็เป็นอีกบาดแผลหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เขียนเรียกปรากฏการณ์ของวันที่ 28 เมษายนฯ นี้ว่า วันครบรอบประวัติศาสตร์บาดแผลคู่ขนาน (parallel commemoration of wounded history) ผู้เขียนพยายามหาความเหมือนคล้ายของ 2 เหตุการณ์ดังกล่าว พบว่ามีบริบทคล้ายกันอย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) เป็นความรุนแรงระหว่างรัฐสยาม-ไทยกับชนชาวมลายู-ปัตตานี 2) ระยะเวลาเกิดเหตุการณ์คาบเกี่ยววันที่ 28 เมษายนฯ เช่นเดียวกัน อนึ่ง สุรชาติ บำรุงสุข เชื่อว่า วันที่ 28 เมษายนฯ เป็นหมุดหมายสำคัญที่เปลี่ยนจังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศไทยไปตลอดกาล[3]
และด้วยเหตุผลกลใดมิทราบได้ หากพิจารณาหมุดหมายการครบรอบ 18 ปีเป็นจุดเกาะเกี่ยว จะพบว่าในปี 2547 มีอีกอย่างน้อย 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือ เหตุการณ์แรก เดือนมีนาคม ต้นปี 2547 ตรงกับช่วงที่ทนายสมชาย นีละไพจิตรหายตัวไป และ เหตุการณ์ที่สอง เดือนตุลาคม ปลายปี 2547 ตรงกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ ด้วยเหตุนี้จึงมองได้ว่า ปี 2547 คือปีมหาวิปโยคของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สอดคล้องกับข้อสังเกตของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่กล่าวว่า ปี 2547 เป็นปีแห่งความรุนแรง “อย่างผิดสังเกต”[4]
ผู้เขียนนึกถึงคำกล่าวของ ธงชัย วินิจจะกูล[5] ที่ว่า ประวัติศาสตร์จะคลี่คลายตัวเองเมื่อเวลาผ่านไป และอาจจะโคจรกลับมาเจอกันอีก หรือแยกทางกันไปเลยก็ได้ ในส่วนที่ว่าประวัติศาสตร์กรือเซะจะคลี่คลายตัวเองมากน้อยเพียงใดหรือไม่ ผู้เขียนไม่แน่ใจ แต่คำว่า “ประวัติศาสตร์อาจโคจรกลับมาอีก” ทำให้นึกถึงวาทะคลาสสิกที่ได้ยินมาจนชินหูว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แค่เปลี่ยนบริบทและคนแสดง” ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นจริง
ทำไมจึงเรียกว่า “เหตุการณ์กรือเซะ”
แม้ว่าวันที่ 28 เมษายน 2547 จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่กว่า 10 จุด และมีผู้เสียชีวิตรวมกันราว 108 ราย[6] แต่เหตุผลที่เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “เหตุการณ์กรือเซะ” หรือ “โศกนาฏกรรมมัสยิดกรือเซะ” ผู้เขียนมองว่าน่าจะเกิดจากหลายเหตุผลต่างๆ ต่อไปนี้ประกอบกัน กล่าวคือ 1) บริเวณมัสยิดกรือเซะมีผู้เสียชีวิตรวมกันมากกว่าพื้นที่อื่น ประมาณ 32 ราย 2) พื้นที่ตั้งของมัสยิดเป็นจุดสนใจของชาวบ้าน เพราะตั้งอยู่บนถนนสายหลักแวดล้อมไปด้วยชุมชน โรงเรียน ตลาด และบ้านเรือน และ 3) ความรุนแรงที่เกิดในพื้นที่มัสยิดกระทบความรู้สึกและพื้นที่ศรัทธาของมุสลิมอย่างกว้างขวางในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
เกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนี้?
ในวันดังกล่าว เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นระหว่างผู้ก่อการกับเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อมาผู้ก่อการได้หลบเข้าไปในบริเวณมัสยิดกรือเซะ พร้อมด้วยมีดพร้า กริช[7] และอาวุธที่ได้ปล้นมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว Human Rights Watch และ Forum Asia มองว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุที่ใช้อาวุธสงครามหนักเข้าระงับเหตุการณ์[8] แตกต่างกับมุมมองของผู้ออกคำสั่งปฏิบัติการอย่าง พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี โดยสิ้นเชิง เขาให้สัมภาษณ์ไว้ดังนี้[9]
“…ปัญหาเรื่องกรือเซะ ถ้าคนรู้เรื่องจริงๆ นะครับต้องเข้าใจผม วันนั้นผมสั่งแน่นอนล่ะครับ บอกให้ปิดล้อมและจับเป็นให้ได้ นั่นคือคำสั่งตอนหกโมงเช้า…จนกระทั่ง เราก็ใช้ทุกวิถีทาง ผมสั่งให้ผู้บังคับหน่วยที่นั่น…บอกพยายามเกลี้ยกล่อม พยายามอะไรเขาทุกอย่าง…ผมใช้เวลา 10 ชั่วโมงนะครับให้เขาอยู่ที่นั่น…พอผมไปถึงตอน11 โมง ผมก็ดูสถานการณ์มันไปไม่ไหวแล้วครับ 11 โมงผมจาก บก.ที่ค่ายสิรินธรไปที่กรือเซะ ผมก็ไปถามผู้บังคับหน่วยที่นั่นว่าทำอะไรไว้บ้างแล้ว เขาบอกครั้งแรกนะครับ ก็พยายามไกล่เกลี่ยให้เขาวางอาวุธ แต่ว่าเขาก็ยิงมา ทำให้ทหารรบพิเศษเสียชีวิตหนึ่ง ตำรวจสอง บาดเจ็บสาหัสเจ็ด…
พอผมไปถึงผมดูเหตุการณ์ทุกอย่างแล้ว…ใช้แก็สน้ำตาเข้าไปแล้ว…ผมก็กะขอฮอฯ (เฮลิคอปเตอร์) กะยิงหลังคามัสยิดให้เปิด แล้วก็เอาแก็สน้ำตาหยอดเข้าไป แต่ปรากฏว่าพอฮอฯ มาแล้ว ไม่สามารถที่จะใช้ได้ เนื่องจากประชาชนเริ่มปิดล้อมเข้ามาเป็นพันๆ …ห่างมัสยิดไม่ถึงร้อยเมตร…ผมก็เลยคิดว่าถ้าเรายิงปั๊บพลาดไปโดนประชาชนเนี่ยเรื่องใหญ่เลย กลายเป็นเงื่อนไขใหม่ ผมก็สั่งระงับใช้…ก็พยายามเจรจากับเขาทุกอย่างเลยนะครับ…ผมรู้เลยว่าปฏิกิริยาประชาชนที่เป็นล้อมผมเข้ามาเป็นพันเนี่ย…พูดง่ายๆ คือพอผมประกาศให้วางอาวุธ เขาจะโห่ร้องแบบโห่ฮาป่านะฮะ แต่พอ (ผู้ก่อการ) ยิงเรา เขาตบมือแสดงความยินดี ลักษณะเป็นแบบนั้น ครั้งสุดท้ายเนี่ยผมก็เรียกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ เชิญมาพบ ผมก็ถามเขาว่ารู้จักไหมคนที่อยู่ในมัสยิด ทุกคนบอกไม่รู้จัก ไม่ใช่คนในปัตตานี
ขณะนั้นผมมีทางเลือก 2 ทาง… คือทางแรกเลย ผมถอนกำลังไปเลย ถอยหนีออกไปเลย อะไรจะเกิดขึ้นรู้ไหมครับ อำนาจรัฐในจังหวัดภาคใต้จะจบเลย ถ้าผมถอยหนีนี่ ถามว่าเกียรติภูมิทหารอยู่ที่ไหน ถ้าผมปิดล้อมเฉยๆ ประชาชนฮือเข้ามาล่ะครับ ทหารตำรวจขณะนั้นประมาณ 50-60 คน สมมติว่า 50 คน ผมก็ยิงไปคนละแม็ก แม็กละ 30 นัด ก็จะตาย 1,800 คน อะไรจะเกิดขึ้น จลาจลเกิดครั้งใหญ่เลย ผมมีทางเลือกทางไหน…
ครั้งสุดท้ายเนี่ยก่อนผมจะเข้า…ผมใช้ RPG ยิงเข้าไปที่ฐานมัสยิด ผมไม่ได้ยิงเข้าไปมัสยิด ยิงที่ฐานไป 4 นัด เสียงอย่างกับฟ้าผ่า ผมคิดว่าเขาต้องยอม ปรากฏว่าเสียงที่เขาประกาศออกมา ญีฮาดๆ (Jihad) ญีฮาดไม่พอเรียกประชาชนให้ญีฮาดด้วย…มัสยิดเนี่ยเป็นพื้นที่ พูดง่ายๆ คล้ายป้อมปราการที่แข็งแรงเลย อาวุธที่ประจำกายเราคือ M16 ไม่สามารถยิงทะลุกำแพงเข้าไปได้ เพราะงั้นยุทธวิธีทางทหารเนี่ย ในเมื่อเราจะกวาดล้างเนี่ย เราต้องใช้ระเบิดมือนำเข้าไป ก็ขว้างระเบิดมือเข้าไป 8 ลูกครับ…พอชาร์จ (charge) เข้าไป หมอกควันมันตลบหมด ทุกคนก็ต้องยิงสาดไปทั่วห้อง นี่สาเหตุที่เขาตาย ทีนี้ตอนหลังเนี่ยคนไปดูศพส่วนมากจะโดนที่หน้ากับอก ก็มองลักษณะว่า ยิงทิ้ง..
ก่อนผมจะเข้าในมัสยิด…ผมเนี่ยได้รับความกดดันสูงมาก ไหนจะคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ห้าม ไหนเวลาที่บีบผมเข้ามา…การที่สั่งลูกน้องวิ่งไปตายเนี่ย มันต้องคิดหนักนะครับ…แต่ผมไม่มีทางเลือกครับ ถ้ามีทางเลือกผมไม่ทำหรอก…
ผมเสียใจอยู่อย่างนะ…ถ้าผมรู้ผมจะโดนประณามแบบนี้นะ ผมจะเข้ากวาดล้างตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าแล้ว ไม่รอถึงตอนเย็นหรอก…แต่ที่ผมทำไป ผมไม่เสียใจ ผมถือว่าผมใคร่ครวญดีแล้ว ทำถูกต้องแล้ว”
บทสัมภาษณ์ของพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ผู้ควบคุมเหตุการณ์ คงพอจะช่วยขยายรายละเอียดต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความเห็นและคำถามถึงสังคม จากญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โดย คอลีเยาะ หะหลี[10] ประธานกลุ่มสตรีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า จะสะกิดแผลขึ้นมาทำไม รื้อฟื้นความเจ็บปวดขึ้นมาอีกเพื่ออะไร การสูญเสียที่เกิดขึ้นถูกนำไปใช้เป็นเครื่องต่อรองเพื่อใครหรืออะไรกันแน่?
ในส่วนนี้จะสรุปโดยยืมคำพูดของ ธงชัย วินิจจะกูล[11] มาประยุกต์ใช้กับความทรงจำต่อเหตุการณ์กรือเซะที่กลายเป็นความทรงจำร่วมต่อเหตุการณ์ของมหาชน (collective generalization) และเหตุการณ์นี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและการขับเคลื่อนอุดมการณ์อย่างเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะ “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่ยัง “คาใจ” ผู้คนจำนวนหนึ่งอยู่[12] อนึ่ง เนื้อหาในส่วนแรกนี้ได้อธิบายความเป็นมาของเหตุการณ์ประกอบกับมุมมองต่อผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ให้ผู้อ่านได้เห็น “ชีวิต” ของผู้คนตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ตอนต้นแล้ว ส่วนผู้อ่านจะปลงใจ เห็นใจ คับแค้นใจ และให้น้ำหนักกับฝ่ายใด ก็ขึ้นอยู่กับมุมที่เลือกมอง สำหรับส่วนถัดไป ผู้เขียนจะพยายามนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่าง “ความเป็นกรือเซะ” กับสัมพันธภาพระหว่างผู้คน
2. กรือเซะ: จากศาสนสถานสู่การกลายมาเป็นพื้นที่แสดงออกทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม
หลังจากที่ได้ทบทวนงานวรรณกรรม บทสัมภาษณ์ ตลอดจนปูมหลังความเป็นมาของมัสยิดกรือเซะแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ก่อการและภาครัฐ “เลือก” ใช้มัสยิดกรือเซะเป็นภาพแทนสัญญะบางประการ คำถามที่ตามมาคือ ทำไมถึงเชื่อเช่นนั้นและทำไมต้องเป็นมัสยิดกรือเซะ
2 เหตุผลที่ผู้เขียนใช้เป็นคำตอบ คือ เหตุผลแรก กรือเซะเป็นมัสยิด และมัสยิดมีสถานะศักดิ์สิทธิ์ในตัวเองตามมุมมองด้านศาสนา และ เหตุผลที่สอง กรือเซะถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ (site of memory) ในมุมมองชาติพันธุ์มาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน
2.1 กรือเซะในบริบทศาสนสถาน:
ตามความเข้าใจทั่วไป มัสยิดหมายถึงศาสนสถาน (holy place) สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หากแต่ในอีกระนาบหนึ่งเชื่อว่ามัสยิดคือบ้านของพระเจ้า (God’s house) [13] นอกจากนี้ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังได้รับกลิ่นไอความเชื่อที่ว่าการจบชีวิตในมัสยิดถือเป็นสิ่งที่ประเสริฐ และหากเป็นการจบชีวิตในสถานะชะฮีด (เสียชีวิตในหนทางของพระเจ้า) ด้วยแล้ว ยิ่งถือเป็นผู้ที่มีเกียรติยิ่ง เหตุผลนี้จึงเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ง่ายตรงไปมาสำหรับใครคนหนึ่งที่จะยินดีในการจบชีวิตลงในมัสยิด
หากพิจารณาแผนที่ตั้งหรือเคยสัมผัสพื้นที่บริเวณรอบรัศมีมัสยิดกรือเซะจะทราบว่า รอบบริเวณดังกล่าวนอกจากจะเป็นย่านชุมชน ร้านค้า ตลาด บ้านเรือนแล้ว ยังมีมัสยิดอื่นอีกหลายแห่ง แล้วเพราะเหตุใดถึงต้องจำเพาะเจาะจงเป็นมัสยิดกรือเซะเท่านั้น
2.2 กรือเซะ: สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์มลายูปาตานี:
ในมิติเชิงคุณค่า กรือเซะไม่ใช่เพียงแค่ศาสนสถานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่กรือเซะเปรียบได้กับ “สัญญะ” แห่งการต่อสู้ทั้งทางสมรภูมิและทางอุดมการณ์ระหว่างมลายูปาตานีกับผู้รุกราน เพื่อความเข้าใจที่ง่ายดาย ผู้เขียนอยากลองเปรียบเทียบสัญญะบางอย่างของกรือเซะกับอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ของเชียงใหม่ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราชของเชียงราย หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพมหานคร ตลอดจนการเข้าใจกรือเซะ ในมุมมองแบบมาตุภูมิ เทียบเคียงกับมัสยิดอัล-อักซอ (Al-Aqsa) ในปาเลสไตน์ ที่ก่อให้ความรู้สึกหวงแหน จนกลายเป็นปรากฏการณ์ขับชูสถานที่ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียกร้อง[14] ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การประกอบศาสนพิธี การชูธงแสดงจุดยืน การขับลำนำกวีสะท้อนเรื่องราวในลักษณะประวัติศาสตร์บาดแผล[15]
ในมิติประวัติศาสตร์ กรือเซะ (Krue Se, Kresek, Kresik) นอกจากจะมีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเองแล้ว ยังมีบาดแผลเป็นของตัวเองอีกด้วย ชื่อเดิมของกรือเซะคือ “ปิตูกรือบัน” หรือ “มัสยิดปินตูเกิรบัง” (Masjid Pintu Gerbang) กรือเซะเป็นมัสยิดที่ก่อสร้างด้วยอิฐ ซึ่งถือปืนหลังแรกของปัตตานีดารุสสลาม ทั้งยังถูกเชื่อว่าเป็นมัสยิดหลังแรกของปัตตานีและอาเชียอาคเนย์ที่ก่อสร้างตามสถาปัตยกรรมตะวันออกกลาง ส่วนการก่อสร้างเกิดขึ้นในสมัยใดนั้น ยังมีข้อถกเถียงในทางวิชาการหลายกระแส เช่น สมัยพญาอินทิรา (สุลต่านอิสมาอีล ชาห์) , สมัยสุลต่านมุศ็อฟฟัร ชาห์, สมัยสุลต่านลองยูนุส, สมัยต่วนสุหลง, หรือ สมัยรายาพระองค์หนึ่ง ส่วนบาดแผลที่กรือเซะได้รับ คือ การถูกเผาในช่วงการศึกระหว่างสยามและปาตานี[16]
ในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ล้วนแล้วแต่มีความพยายามจะบุกยึดปาตานีและรัฐมลายูทั้งหลาย[17] จนที่สุดก็สามารถผนวกรวมปาตานีและรัฐมลายูเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม-ไทยได้ แน่นอนว่ากรือเซะก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสยาม-ไทยด้วย
(ที่มา มัสยิดกรือเซะ พ.ศ. 2523 (ค.ศ.1980) โดย Georges Condominas) [18]
เวลาถัดมา วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2478 กรือเซะได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร แต่เกิดเสียงคัดค้านจากชาวบ้านให้ถอนทะเบียนกรือเซะออกจากโบราณสถาน เนื่องจากมัสยิดถูกทิ้งร้างไม่มีการใช้งานแต่อย่างใด ต่อมาในปี 2533 จึงเกิดเหตุประท้วงที่มัสยิดกรือเซะแบบอารยะขัดขืน คือ เข้าทำการละหมาดในพื้นที่มัสยิดในขณะที่มีสถานะเป็นโบราณสถานอยู่ ประกอบกับในช่วงนั้นมีการเผยแพร่ตำนานคำสาปแช่งให้มัสยิดกรือเซะสร้างไม่เสร็จตามนโยบายการท่องเที่ยว ยิ่งเป็นการสุมไฟใส่ฝืนที่กระทบมิติด้านศาสนาเพิ่มขึ้นอีก[19]
หากพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับข้อสังเกตของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์ปาตานีและเรื่องราวของกรือเซะ แม้เป็นเรื่องในอดีต แต่ถูกนำกลับมามีชีวิตอีกครั้งในปัจจุบัน[20] หรือที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เรียกว่า การทำให้ “ปัญหาเก่า” กลับมาเป็น “ปัญหาใหม่” อีกครั้ง[21]
3. กรือเซะ: “สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์” สู่ “มรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง”
อดีตรับใช้ปัจจุบัน ในส่วนนี้ผู้เขียนจะหยิบยกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกรือเซะมานำเสนอ เพื่อขยายภาพให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้วกรือเซะถูกเปลี่ยนแปลงบทบาทไปอย่างเป็นพลวัต สำหรับข้อมูลสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว ผู้เขียนได้พิจารณาเลือกมา 3 เรื่องราวที่ต่างมิติกัน โดยเรียงลำดับตามช่วงเวลา ดังนี้ 1) เหตุการณ์ประดิษฐานและการระเบิดปืนใหญ่พญาตานีจำลอง 2) กิจกรรม Terima Kresek ที่นำเสนอภาพวิถีชีวิตผ่านอัตลักษณ์มลายูมุสลิม 3) กิจกรรมแสดงออกทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล
3.1 เหตุการณ์ประดิษฐานและการระเบิดปืนใหญ่พญาตานีจำลอง:
ความก่อนหน้า ทำให้ทราบว่าสยามและปาตานีไม่ได้ลงรอยกันมาแต่เริ่มแรก จำรูญ เด่นอุดม เล่าว่าปาตานีตกเป็นส่วนหนึ่งของสยามในช่วงปี 2329[22] ผลพวงหลังสิ้นสุดสงครามทำให้ปาตานีต้องมอบปืนใหญ่ให้แก่สยามไทย หนึ่งในปืนที่ถูกส่งมอบมีชื่อว่า “ปืนใหญ่พญาตานี” ถือกันว่าเป็นปืนที่ใหญ่ที่สุด ด้วยความยาม 6.82 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางกระบอก 24 เซนติเมตร และปากกระบอกลำกล้องหนา 10 เซนติเมตร[23] ส่วนคำถามที่ว่าปืนใหญ่พญาตานีถูกสร้างโดยใครและสมัยไหนกันแน่นั้น ยังไม่อาจฟังเป็นยุติได้[24]ปัจจุบันถูกนำไปตั้งท้าแดดท้าฝนบริเวณหน้ากระทรวงกลาโหมกรุงเทพมหานคร
(ที่มา ประชาไท, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3xXXdyP)
ต่อมามีรายงานตามเอกสารประชาสัมพันธ์ของศูนย์การเรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี ต.ตันหยงลุโล๊ะ ปี 2546 ระบุว่า ชาวปัตตานีขอความอนุเคราะห์ไปยังคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรให้นำส่งปืนใหญ่กลับสู่มาตุภูมิ แต่ด้วยเหตุว่าปืนใหญ่พญาตานีมีฐานะเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปแล้ว จากนั้นได้มีพระบรมราชานุญาตให้หล่อจำลองขึ้น[25] โดยสำนักชั่งสิบหมู่ กรมศิลปากร ปืนใหญ่จำลองนี้มีน้ำหนัก 2 ตัน ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2556 ได้นำปืนใหญ่จำลองมาประดับไว้ที่มัสยิดกรือเซะ ทว่าวันที่ 11 มิถุนายน 2556 เกิดเหตุระเบิดปืนใหญ่จำลองจนเสียหาย[26] กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการทำปืนจำลองเท่าขนาดจริงมาประดิษฐานไว้อีกเลย
3.2 กิจกรรม Terima Kresek ที่นำเสนอภาพวิถีชีวิตผ่านอัตลักษณ์มลายูมุสลิม:
ความเบื้องต้น terima kresek (เตอริมอ-กรือเซะ) มาจากการเล่นคำในภาษามลายู คำว่า terima kasih (เตอริมอ-กาเสะ) ที่แปลว่า ขอบคุณ ส่วนเนื้อหาการจัดงานดังกล่าว เริ่มขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 29-30 กรกฎาคม 2561 ภายใต้บรรยากาศประวัติศาสตร์มลายู วัฒนธรรมมลายู อาหารและนิทรรศการภาพถ่าย[27]
กิจกรรมดังกล่าว เป็นไปในลักษณะการฟื้นฟู อนุรักษ์ นำเสนอวัฒนธรรมมลายูแบบที่เน้นความคิดสร้างสรรค์และไม่ใช้ความรุนแรง (soft power) แน่นอนว่าสถานที่ที่ถูกคัดเลือกให้มาเป็นเวทีนำเสนอกิจกรรมเหล่านี้ คือ มัสยิดกรือเซะ นอกจากมิติทางด้านวัฒนธรรมแล้ว กรือเซะก็ยังถูกใช้เป็นเวทีแสดงออกข้อเรียกร้องทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน
3.3 กิจกรรมแสดงออกทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล:
วันที่ 2 สิงหาคม 2563 เกิดการรวมตัวกันของเยาวชนที่แต่งกายด้วยชุดมลายู ใช้ภาษามลายู-ไทย ขับร้องอนาชิด (ประเภทหนึ่งของเพลง) ชูสาวนิ้ว รวมถึงชูรูปภาพบุคคลที่สูญหายทางการเมือง เป็นสัญลักษณ์แสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาล[28] เช่นเดียวกันกับสองกรณีตัวอย่างข้างต้นที่กรือเซะถูกใช้เป็นสถานที่ในการรวมตัวและแสดงออกทางการเมือง
รวมความแล้วจะเห็นได้ว่า ทุกกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมือง สถานที่ที่ถูกให้ความสำคัญมากที่สุด คือมัสยิดกรือเซะ พูดอีกอย่างได้ว่ากรือเซะถูกทำให้รู้จักและมีพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรมในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติศาสนกิจ นำเสนออัตลักษณ์เชิงสร้างสรรค์ และการถูกทำให้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์การเมืองอย่างมีนัยสำคัญ
4. บทสรุป
บทความนี้พยายามนำเสนอสององค์ 2 ประกอบหลัก ได้แก่ องค์ประกอบแรก การรำลึกวันครบรอบ 18 ปี ของเหตุการณ์กรือเซะ โดยเสนอรายละเอียดแง่มุมจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง และ องค์ประกอบที่สอง คือความเป็นมา ความสำคัญ และพลวัตของมัสยิดกรือเซะ ทั้งสององค์ประกอบดูเป็นคนละเรื่องกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นในมิติทางประวัติศาสตร์ ในด้านหนึ่งเพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงความสูญเสีย รวมถึงเพื่อให้ผู้ก่อการและเจ้าหน้าที่ได้พึงสังวร ในอีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานเขียนลักษณะนี้เป็นการผลิตซ้ำความเจ็บปวดจากบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจจะกระทบจิตใจของผู้ที่อยู่ข้างหลังไม่น้อย ผู้เขียนขออภัยมา ณ ที่นี้
คำลงท้ายบทความนี้ ผู้เขียนยังอยาก “ถือวิสาสะ” ลงท้ายบทความแบบผิดขนบการเขียนบทความที่ไม่ตรงกับหัวข้อสักเล็กน้อย โดยส่งสาส์นไปถึงบรรดาผู้อ่านทั้งหลาย เกี่ยวกับการให้เกียรติความรู้สึกของคนในพื้นที่ เช่นการใช้วาทกรรมส่งคนไม่ดีลงใต้ เป็นต้นว่า “ส่งมันลงใต้” “นักเรียนตีกัน ซ่านักก็ส่งมันลงใต้ไปดัดสันดาน” “ข้าราชการเลวๆ แบบนี้ น่าจับส่งลงสามจังหวัดให้หมด” ผู้เขียนขอทิ้งทวนไปยังผู้ริเริ่มวาทกรรมเหล่านี้ว่าสามจังหวัดไม่ใช่กระโถนรองรับความเลวทรามของสังคมไทย
อ้างอิง
[1] หากมีข้อแลกเปลี่ยนหรือพบข้อผิดพลาดกรุณาแนะนำผู้เขียนได้ที่ e-mail: [email protected]
[2] ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข, “มองวิชาสิทธิมนุษยชน (และอื่นๆ ) ผ่านคำย้ำเตือนในการศึกษาภาคสนามทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา,” ประชาไท, เผยแพร่วันที่ 12 เมษายน 2558, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3xTeDwI
[3] สุรชาติ บำรุงสุข, วิกฤตใต้: สู้ด้วยยุทธศาสตร์และปัญญา, พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: อนิเมทกรุ๊ป, 2547.
[4] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “เหตุการณ์ความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้” กับ “ประวัติศาสตร์บาดแผล,” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2548, เผยแพร่วันที่ 24 กุมพาพันธ์ 2564, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3ORj15w
[5] ธงชัย วินิจจะกูล, “ธงชัย วินิจจะกูล: คนเดือนตุลา ปฏิบัติการแห่งความทรงจำ,” งานเสวนาหัวข้อ “เสวนาว่าด้วยเรื่องคนเดือนตุลา,” Book Re: public เชียงใหม่, วันที่ 13 กรกฎาคม 2556, อ้างถึงใน ประชาไท, เผยแพร่วันที่ 17 กรกฎาคม 2556, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3ERQOqs
[6] ศิลปวัฒนธรรม, “28 เมษายน 2547: เกิดเหตุปะทะอย่างรุนแรงที่ “กรือเซะ” ผู้ก่อเหตุเสียชีวิตรวม 108 ศพ,” เผยแพร่วันที่ 28 เมษายน 2564, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3vFNZo8
[7] มีดพกชนิดหนึ่งตามจารีตมลายู มีลักษณะโค้งสลับไปมาคล้ายงู บางข้อมูลอธิบายว่า กริชถูกใช้เป็นเครื่องบ่งบอกฐานะทางสังคมและยศถาบรรดาศักดิ์ เชื่อกันว่าในสมัยโบราณหากเจ้าบ่าวไม่สามารถเข้าร่วมพิธีแต่งงานด้วย อาจส่งกริชมาแทนตัว และถือว่าการแต่งงานนั้นสมบูรณ์ตามประเพณี ดู ทรงกลด บางยี่ขัน, “Pattani Multicultural City: รู้จักปัตตานี เมืองแห่งการผสานวัฒนธรรมทั้งมลายู จีน พุทธ ตะวันตก ผ่านอ่านหาร สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรม จนเกิดเป็นอัตลักษณ์มากสเน่ห์,” เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3kjAzsY
[8] ศิลปวัฒนธรรม, “28 เมษายน 2547: เกิดเหตุปะทะอย่างรุนแรงที่ “กรือเซะ,” อ้างแล้ว .
[9] พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ให้สัมภาษณ์ในรายการจับเข่าคุย ช่อง 3 (สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการ) , สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3xYFojl
[10] สปริง รีพอร์ต, “10 ปีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ โศกนาฏกรรมในอดีต,” 28 เมษายน 2557, สืบค้นได้ที่ https://bit.ly/3kdFpaS
[11] ธงชัย วินิจจะกูล, อ้างแล้ว.
[12] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อ้างแล้ว.
[13] วลัย บุปผา, การจัดการมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่ขัดแย้ง กรณีศึกษา ตำนานมัสยิดกรือเซะ, วิทยานิพนธ์สาขาการบริหารงานวัฒนธรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, หน้า 10
[14] Shawqi Kassis, Samih al-Qasim: Equal Parts Poetry and Resistance, Journal of Palestine Studies vol.44, no.2, (winter 2015) .
[15] See at Nora F. Boayrid, Resistance through the Language of Palestine Poets, Linguistics and Literature Studies 7 (2) : 51-56, 2019, Riyadh, Kingdom of Saudi-Arabia.
[16] วลัย บุปผา, อ้างแล้ว, หน้า 12-17
[17] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อ้างแล้ว.
[18] TANTONGLULOK: ตันหยงลุโละ, เผยแพร่วันที่ 15 ธันวาคม 2561, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3kntUxD
[19] วลัย บุปผา, อ้างแล้ว, หน้า 26
[20] อ้างถึงใน พิเชฐ แสงทอง, “โปรดฟังอีกครั้ง…ประวัติศาสตร์บาดแผลในชายแดนภาคใต้: จาก “ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย” ถึง “ประวัติศาสตร์วิพากษ์: สยามไทยกับปัตตานี”,” สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2557, หน้า 266
[21] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อ้างแล้ว.
[22] จำรูญ เด่นอุดม, ดุซงญอ กรือเซะ ตากใบ และการยอมรับความจริงในสังคมไทย, การบรรยายสาธารณะวันที่ 13 พฤษภาคม 2552, มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, สืบค้นได้ที่ https://bit.ly/3s0MAaP
[23] สยามานุสสติ, “พญาตานี ปืนใหญ่แห่งสยาม เคยมีชื่อเสียงเลื่องลือ พระจักรพรรดิญี่ปุ่นยังอ้อนวอนขอ!” เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3rUSU3H
[24] ปรามินทร์ เครือทอง, “ตำนานปืนใหญ่พญาตานี,” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคา 2547, เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3ER5pTc
[25] ประชาไท, “ปืนใหญ่พญาตานีคืนถิ่น พระบรมราชานุญาตให้หล่อจำลองวางหน้ามัสยิดกรือเซะ,” เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2556, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3xXXdyP
[26] เลขา เกลี้ยงเกลา และ นาซือเราะ เจะฮะ, “บึ้มสั่น-ปืนพญาตานีจำลองหัก,” สำนักข่าวอิสรา, เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2556, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3kgRNqC
[27] Terima Kresek, ‘TERIMA KRESEK ครั้งที่ 1: วันเวลาที่สวยงาม,’ 12 กรกฎาคม 2561, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3ERalaw
[28] มติชน, เยาวชนปัตตานีรวมตัว ชุมนุมหน้ามัสยิดกรือเซะ “ชูสามนิ้ว” ไล่รัฐบาลประยุทธ์, 2 สิงหาคม 2563, สืบค้นได้ที่ https://bit.ly/3xZrgpY