กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ COVID-19 สายพันธุ์เดลตากระจายทั่วประเทศ สุ่มตรวจตัวอย่างพบในกรุงเทพฯ มากที่สุด 97.6% ยังไม่พบสายพันธุ์ C.1.2 ในไทย พร้อมตั้งเป้าภายในสิ้นปี 64 ตรวจเพิ่มอีก 10,000 ตัวอย่าง
วันนี้ (6 ก.ย.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ว่า ขณะนี้มี COVID-19 จำนวน 3 สายพันธุ์ที่พบในไทย ได้แก่ อัลฟา เบตา และเดลตา
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้สุ่มตรวจหาสายพันธุ์ 1577 ตัวอย่าง พบว่าเป็น COVID-19 สายพันธุ์อัลฟา 75 ตัวอย่าง เดลตา 1,417 ตัวอย่าง และอัลฟา 31 ตัวอย่าง ส่วนภาพรวมทั้งประเทศ พบว่า เป็นสายพันธุ์เดลตา 93% รองลงมาสายพันธุ์อัลฟา และสายพันธุ์เบตา พบที่นราธิวาส 28 คน ปัตตานี 2 คน และยะลา 1 คน ส่วนในกรุงเทพฯ พบว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา 97.6%
COVID-19 สายพันธุ์เดลตาพบทุกจังหวัดแล้ว แต่ละสัปดาห์พบมากพบน้อยไม่เท่ากัน ส่วนเบตาจำกัดวงอยู่ในภาคใต้
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดการกลายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ และสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล ได้แก่ อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา ขณะที่สายพันธุ์ C.1.2 ยังไม่ได้ถูกจัดชั้้น แต่ต้องจับตาเพราะมีการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งเหมือนกับเบตา แกมมา ซึ่งหลบภูมิคุ้มกัน หรือดื้อวัคซีน แต่ยังไม่พบในไทย
ส่วนสายพันธุ์ MU (B.1.621) กลายพันธุ์ในตำแหน่งที่น่าสนใจ กังวลการหลบหลีกภูมิคุ้มกันและดื้อวัคซีน โดยทั่วโลกยังพบน้อย เช่น สหรัฐฯ พบ 2,400 ตัวอย่าง โคลัมเบีย 965 ตัวอย่าง เม็กซิโก 367 ตัวอย่าง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเร็วขึ้นหรือไม่ ส่วนการหลบภูมิต้านทาน และการต้านวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ
ขณะนี้ไทยตรวจสายพันธุ์สัปดาห์ละ 1,000 กว่าราย ตั้งเป้าจะสุ่มตรวจมากขึ้น ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือน ธ.ค.2564 จำนวน 12,000 ตัวอย่าง เช่น ตรวจในภูเก็ตมากขึ้น เพื่อให้ทราบสายพันธุ์ COVID-19 ในพื้นที่ สนับสนุนข้อมูลประสิทธิผลวัคซีน