วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2022
  • Login
  • Register
ปัตตานี
  • ปัตตานี
  • ข่าว
  • กิจกรรม
  • หางาน
  • ธุรกิจ
  • ร้านค้า
  • วิถีชีวิต
    • คนสำคัญ
  • สถานที่ท่องเที่ยว
  • สถานศึกษา
  • ผู้สนับสนุนเว็บ
  • ติดต่อเรา
No Result
View All Result
  • ปัตตานี
  • ข่าว
  • กิจกรรม
  • หางาน
  • ธุรกิจ
  • ร้านค้า
  • วิถีชีวิต
    • คนสำคัญ
  • สถานที่ท่องเที่ยว
  • สถานศึกษา
  • ผู้สนับสนุนเว็บ
  • ติดต่อเรา
No Result
View All Result
ปัตตานี
No Result
View All Result
Home ข่าว

ความเป็น “กรือเซะ” มันมีหลายภาพให้จำ

ปัตตานี by ปัตตานี
3 สัปดาห์ ago
in ข่าว
Reading Time: 2min read
158
0
100
SHARES
199
VIEWS
Share on FacebookShare on TwitterSent to LINE friend

อารัมภบท

บทความนี้ไม่เป็นกลาง ผู้อ่านโปรดอ่านด้วยความระมัดระวังและตั้งแง่ เหตุการณ์ครบรอบ 18 ปี โศกนาฏกรรมกรือเซะ ผู้เขียนสังวรตัวเองว่ากำลังจะเขียนบทความในฐานะ “คนนอก” ดังนั้นจึงขอสงวนวิธีการนำเสนอเนื้อหาในลักษณะ “คิดแทน” “พูดแทน” เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เสียชีวิตและญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ เพราะการตีความของผู้เขียนอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเนื่องจากข้อจำกัดของผู้เขียนเอง[2] อย่างไรก็ดี หากมีบทสัมภาษณ์โดยตรงจากตัวความ ผู้เขียนจะหยิบยกนำมาเสนอเพื่อให้เข้าใจถึงนัยความสำคัญของวันที่ 28 เมษายนฯ มายิ่งขึ้น

หลังจากทบทวนวรรณกรรมเบื้องต้นเกี่ยวกับ “กรือเซะ” พบว่า วรรณกรรมหลักๆ ที่ถูกนำเสนอออกมาอาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม ดังนี้ 1) ประวัติศาสตร์บาดแผลเหตุการณ์โศกนาฏกรรมกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 2) ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและความเชื่อที่เกาะเกี่ยวกับมัสยิดกรือเซะ และ 3) กรือเซะกับการกลายมาเป็นพื้นที่ทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรม

ด้วยพันธะทางปฏิทินการครบรอบวันที่ 28 เมษายนฯ ผู้เขียนจึงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องหลักๆ กล่าวคือ เรื่องแรก เปิดบาดแผลทางประวัติศาสตร์บางส่วนขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าวันที่ 28 เมษายนฯ มีความสำคัญอย่างไร และ เรื่องที่สอง จินตนาการถึงการแปรเปลี่ยนจากศาสนสถานสู่การกลายมาเป็นพื้นที่ทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรม ผู้เขียนหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่างานเขียนฉบับนี้จะเป็นข้อต่อเล็กๆ ที่ช่วยต่อเติมให้เห็น “ชีวิต” ของผู้คนที่สัมพันธ์กับ “การมีชีวิต” ของกรือเซะควบคู่กันผ่านบทเรียนทางประวัติศาสตร์

1. ความเป็นมา

28 เมษายนฯ ถือเป็นวันครบรอบ 18 ปี นับแต่เหตุการณ์ยิงปะทะในมัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ไม่เพียงเท่านั้น หากเราหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปวันที่ 28 เมษายน 2491 เมื่อ 74 ปีก่อน จะตรงกับอีกเหตุการณ์สำคัญที่รัฐเรียกว่า “กบฏดุซงญอ” ซึ่งก็เป็นอีกบาดแผลหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เขียนเรียกปรากฏการณ์ของวันที่ 28 เมษายนฯ นี้ว่า วันครบรอบประวัติศาสตร์บาดแผลคู่ขนาน (parallel commemoration of wounded history) ผู้เขียนพยายามหาความเหมือนคล้ายของ 2 เหตุการณ์ดังกล่าว พบว่ามีบริบทคล้ายกันอย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) เป็นความรุนแรงระหว่างรัฐสยาม-ไทยกับชนชาวมลายู-ปัตตานี      2) ระยะเวลาเกิดเหตุการณ์คาบเกี่ยววันที่ 28 เมษายนฯ เช่นเดียวกัน อนึ่ง สุรชาติ บำรุงสุข เชื่อว่า วันที่ 28 เมษายนฯ เป็นหมุดหมายสำคัญที่เปลี่ยนจังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศไทยไปตลอดกาล[3]

และด้วยเหตุผลกลใดมิทราบได้ หากพิจารณาหมุดหมายการครบรอบ 18 ปีเป็นจุดเกาะเกี่ยว จะพบว่าในปี 2547 มีอีกอย่างน้อย 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือ เหตุการณ์แรก เดือนมีนาคม ต้นปี 2547 ตรงกับช่วงที่ทนายสมชาย นีละไพจิตรหายตัวไป และ เหตุการณ์ที่สอง เดือนตุลาคม ปลายปี 2547 ตรงกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ ด้วยเหตุนี้จึงมองได้ว่า ปี 2547 คือปีมหาวิปโยคของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สอดคล้องกับข้อสังเกตของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่กล่าวว่า ปี 2547 เป็นปีแห่งความรุนแรง “อย่างผิดสังเกต”[4]

ผู้เขียนนึกถึงคำกล่าวของ ธงชัย วินิจจะกูล[5] ที่ว่า ประวัติศาสตร์จะคลี่คลายตัวเองเมื่อเวลาผ่านไป และอาจจะโคจรกลับมาเจอกันอีก หรือแยกทางกันไปเลยก็ได้ ในส่วนที่ว่าประวัติศาสตร์กรือเซะจะคลี่คลายตัวเองมากน้อยเพียงใดหรือไม่ ผู้เขียนไม่แน่ใจ แต่คำว่า “ประวัติศาสตร์อาจโคจรกลับมาอีก” ทำให้นึกถึงวาทะคลาสสิกที่ได้ยินมาจนชินหูว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แค่เปลี่ยนบริบทและคนแสดง” ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นจริง

ทำไมจึงเรียกว่า “เหตุการณ์กรือเซะ”

แม้ว่าวันที่ 28 เมษายน 2547 จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่กว่า 10 จุด และมีผู้เสียชีวิตรวมกันราว 108 ราย[6] แต่เหตุผลที่เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “เหตุการณ์กรือเซะ” หรือ “โศกนาฏกรรมมัสยิดกรือเซะ” ผู้เขียนมองว่าน่าจะเกิดจากหลายเหตุผลต่างๆ ต่อไปนี้ประกอบกัน กล่าวคือ 1) บริเวณมัสยิดกรือเซะมีผู้เสียชีวิตรวมกันมากกว่าพื้นที่อื่น ประมาณ 32 ราย 2) พื้นที่ตั้งของมัสยิดเป็นจุดสนใจของชาวบ้าน เพราะตั้งอยู่บนถนนสายหลักแวดล้อมไปด้วยชุมชน โรงเรียน ตลาด และบ้านเรือน และ 3) ความรุนแรงที่เกิดในพื้นที่มัสยิดกระทบความรู้สึกและพื้นที่ศรัทธาของมุสลิมอย่างกว้างขวางในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

เกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนี้?

ในวันดังกล่าว เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นระหว่างผู้ก่อการกับเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อมาผู้ก่อการได้หลบเข้าไปในบริเวณมัสยิดกรือเซะ พร้อมด้วยมีดพร้า กริช[7] และอาวุธที่ได้ปล้นมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว  Human Rights Watch และ Forum Asia มองว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุที่ใช้อาวุธสงครามหนักเข้าระงับเหตุการณ์[8] แตกต่างกับมุมมองของผู้ออกคำสั่งปฏิบัติการอย่าง พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี โดยสิ้นเชิง เขาให้สัมภาษณ์ไว้ดังนี้[9]

“…ปัญหาเรื่องกรือเซะ ถ้าคนรู้เรื่องจริงๆ นะครับต้องเข้าใจผม วันนั้นผมสั่งแน่นอนล่ะครับ บอกให้ปิดล้อมและจับเป็นให้ได้ นั่นคือคำสั่งตอนหกโมงเช้า…จนกระทั่ง เราก็ใช้ทุกวิถีทาง ผมสั่งให้ผู้บังคับหน่วยที่นั่น…บอกพยายามเกลี้ยกล่อม พยายามอะไรเขาทุกอย่าง…ผมใช้เวลา 10 ชั่วโมงนะครับให้เขาอยู่ที่นั่น…พอผมไปถึงตอน11 โมง ผมก็ดูสถานการณ์มันไปไม่ไหวแล้วครับ 11 โมงผมจาก บก.ที่ค่ายสิรินธรไปที่กรือเซะ ผมก็ไปถามผู้บังคับหน่วยที่นั่นว่าทำอะไรไว้บ้างแล้ว เขาบอกครั้งแรกนะครับ ก็พยายามไกล่เกลี่ยให้เขาวางอาวุธ แต่ว่าเขาก็ยิงมา ทำให้ทหารรบพิเศษเสียชีวิตหนึ่ง ตำรวจสอง บาดเจ็บสาหัสเจ็ด…

พอผมไปถึงผมดูเหตุการณ์ทุกอย่างแล้ว…ใช้แก็สน้ำตาเข้าไปแล้ว…ผมก็กะขอฮอฯ (เฮลิคอปเตอร์) กะยิงหลังคามัสยิดให้เปิด แล้วก็เอาแก็สน้ำตาหยอดเข้าไป แต่ปรากฏว่าพอฮอฯ มาแล้ว ไม่สามารถที่จะใช้ได้ เนื่องจากประชาชนเริ่มปิดล้อมเข้ามาเป็นพันๆ …ห่างมัสยิดไม่ถึงร้อยเมตร…ผมก็เลยคิดว่าถ้าเรายิงปั๊บพลาดไปโดนประชาชนเนี่ยเรื่องใหญ่เลย กลายเป็นเงื่อนไขใหม่ ผมก็สั่งระงับใช้…ก็พยายามเจรจากับเขาทุกอย่างเลยนะครับ…ผมรู้เลยว่าปฏิกิริยาประชาชนที่เป็นล้อมผมเข้ามาเป็นพันเนี่ย…พูดง่ายๆ คือพอผมประกาศให้วางอาวุธ เขาจะโห่ร้องแบบโห่ฮาป่านะฮะ แต่พอ (ผู้ก่อการ) ยิงเรา เขาตบมือแสดงความยินดี ลักษณะเป็นแบบนั้น ครั้งสุดท้ายเนี่ยผมก็เรียกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ เชิญมาพบ ผมก็ถามเขาว่ารู้จักไหมคนที่อยู่ในมัสยิด ทุกคนบอกไม่รู้จัก ไม่ใช่คนในปัตตานี

ขณะนั้นผมมีทางเลือก 2 ทาง… คือทางแรกเลย ผมถอนกำลังไปเลย ถอยหนีออกไปเลย อะไรจะเกิดขึ้นรู้ไหมครับ อำนาจรัฐในจังหวัดภาคใต้จะจบเลย ถ้าผมถอยหนีนี่ ถามว่าเกียรติภูมิทหารอยู่ที่ไหน ถ้าผมปิดล้อมเฉยๆ ประชาชนฮือเข้ามาล่ะครับ ทหารตำรวจขณะนั้นประมาณ 50-60 คน สมมติว่า 50 คน ผมก็ยิงไปคนละแม็ก แม็กละ 30 นัด ก็จะตาย 1,800 คน อะไรจะเกิดขึ้น จลาจลเกิดครั้งใหญ่เลย ผมมีทางเลือกทางไหน…

ครั้งสุดท้ายเนี่ยก่อนผมจะเข้า…ผมใช้ RPG ยิงเข้าไปที่ฐานมัสยิด ผมไม่ได้ยิงเข้าไปมัสยิด ยิงที่ฐานไป 4 นัด เสียงอย่างกับฟ้าผ่า ผมคิดว่าเขาต้องยอม ปรากฏว่าเสียงที่เขาประกาศออกมา ญีฮาดๆ (Jihad) ญีฮาดไม่พอเรียกประชาชนให้ญีฮาดด้วย…มัสยิดเนี่ยเป็นพื้นที่ พูดง่ายๆ คล้ายป้อมปราการที่แข็งแรงเลย อาวุธที่ประจำกายเราคือ M16 ไม่สามารถยิงทะลุกำแพงเข้าไปได้ เพราะงั้นยุทธวิธีทางทหารเนี่ย ในเมื่อเราจะกวาดล้างเนี่ย เราต้องใช้ระเบิดมือนำเข้าไป ก็ขว้างระเบิดมือเข้าไป 8 ลูกครับ…พอชาร์จ (charge) เข้าไป หมอกควันมันตลบหมด ทุกคนก็ต้องยิงสาดไปทั่วห้อง นี่สาเหตุที่เขาตาย ทีนี้ตอนหลังเนี่ยคนไปดูศพส่วนมากจะโดนที่หน้ากับอก ก็มองลักษณะว่า ยิงทิ้ง..

ก่อนผมจะเข้าในมัสยิด…ผมเนี่ยได้รับความกดดันสูงมาก ไหนจะคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ห้าม ไหนเวลาที่บีบผมเข้ามา…การที่สั่งลูกน้องวิ่งไปตายเนี่ย มันต้องคิดหนักนะครับ…แต่ผมไม่มีทางเลือกครับ ถ้ามีทางเลือกผมไม่ทำหรอก…

ผมเสียใจอยู่อย่างนะ…ถ้าผมรู้ผมจะโดนประณามแบบนี้นะ ผมจะเข้ากวาดล้างตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าแล้ว ไม่รอถึงตอนเย็นหรอก…แต่ที่ผมทำไป ผมไม่เสียใจ ผมถือว่าผมใคร่ครวญดีแล้ว ทำถูกต้องแล้ว”

บทสัมภาษณ์ของพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ผู้ควบคุมเหตุการณ์ คงพอจะช่วยขยายรายละเอียดต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความเห็นและคำถามถึงสังคม จากญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โดย คอลีเยาะ หะหลี[10] ประธานกลุ่มสตรีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า จะสะกิดแผลขึ้นมาทำไม รื้อฟื้นความเจ็บปวดขึ้นมาอีกเพื่ออะไร การสูญเสียที่เกิดขึ้นถูกนำไปใช้เป็นเครื่องต่อรองเพื่อใครหรืออะไรกันแน่?

ในส่วนนี้จะสรุปโดยยืมคำพูดของ ธงชัย วินิจจะกูล[11] มาประยุกต์ใช้กับความทรงจำต่อเหตุการณ์กรือเซะที่กลายเป็นความทรงจำร่วมต่อเหตุการณ์ของมหาชน (collective generalization) และเหตุการณ์นี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและการขับเคลื่อนอุดมการณ์อย่างเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะ “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่ยัง “คาใจ” ผู้คนจำนวนหนึ่งอยู่[12] อนึ่ง เนื้อหาในส่วนแรกนี้ได้อธิบายความเป็นมาของเหตุการณ์ประกอบกับมุมมองต่อผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ให้ผู้อ่านได้เห็น “ชีวิต” ของผู้คนตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ตอนต้นแล้ว ส่วนผู้อ่านจะปลงใจ เห็นใจ คับแค้นใจ และให้น้ำหนักกับฝ่ายใด ก็ขึ้นอยู่กับมุมที่เลือกมอง สำหรับส่วนถัดไป ผู้เขียนจะพยายามนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่าง “ความเป็นกรือเซะ” กับสัมพันธภาพระหว่างผู้คน

2. กรือเซะ: จากศาสนสถานสู่การกลายมาเป็นพื้นที่แสดงออกทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม

หลังจากที่ได้ทบทวนงานวรรณกรรม บทสัมภาษณ์ ตลอดจนปูมหลังความเป็นมาของมัสยิดกรือเซะแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ก่อการและภาครัฐ “เลือก” ใช้มัสยิดกรือเซะเป็นภาพแทนสัญญะบางประการ คำถามที่ตามมาคือ ทำไมถึงเชื่อเช่นนั้นและทำไมต้องเป็นมัสยิดกรือเซะ

2 เหตุผลที่ผู้เขียนใช้เป็นคำตอบ คือ เหตุผลแรก กรือเซะเป็นมัสยิด และมัสยิดมีสถานะศักดิ์สิทธิ์ในตัวเองตามมุมมองด้านศาสนา และ เหตุผลที่สอง กรือเซะถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ (site of memory) ในมุมมองชาติพันธุ์มาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

2.1 กรือเซะในบริบทศาสนสถาน:

ตามความเข้าใจทั่วไป มัสยิดหมายถึงศาสนสถาน (holy place) สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หากแต่ในอีกระนาบหนึ่งเชื่อว่ามัสยิดคือบ้านของพระเจ้า (God’s house) [13] นอกจากนี้ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังได้รับกลิ่นไอความเชื่อที่ว่าการจบชีวิตในมัสยิดถือเป็นสิ่งที่ประเสริฐ และหากเป็นการจบชีวิตในสถานะชะฮีด (เสียชีวิตในหนทางของพระเจ้า) ด้วยแล้ว ยิ่งถือเป็นผู้ที่มีเกียรติยิ่ง เหตุผลนี้จึงเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ง่ายตรงไปมาสำหรับใครคนหนึ่งที่จะยินดีในการจบชีวิตลงในมัสยิด

หากพิจารณาแผนที่ตั้งหรือเคยสัมผัสพื้นที่บริเวณรอบรัศมีมัสยิดกรือเซะจะทราบว่า รอบบริเวณดังกล่าวนอกจากจะเป็นย่านชุมชน ร้านค้า ตลาด บ้านเรือนแล้ว ยังมีมัสยิดอื่นอีกหลายแห่ง แล้วเพราะเหตุใดถึงต้องจำเพาะเจาะจงเป็นมัสยิดกรือเซะเท่านั้น

2.2 กรือเซะ: สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์มลายูปาตานี:

ในมิติเชิงคุณค่า กรือเซะไม่ใช่เพียงแค่ศาสนสถานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่กรือเซะเปรียบได้กับ “สัญญะ” แห่งการต่อสู้ทั้งทางสมรภูมิและทางอุดมการณ์ระหว่างมลายูปาตานีกับผู้รุกราน เพื่อความเข้าใจที่ง่ายดาย ผู้เขียนอยากลองเปรียบเทียบสัญญะบางอย่างของกรือเซะกับอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ของเชียงใหม่ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราชของเชียงราย หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพมหานคร ตลอดจนการเข้าใจกรือเซะ ในมุมมองแบบมาตุภูมิ เทียบเคียงกับมัสยิดอัล-อักซอ (Al-Aqsa) ในปาเลสไตน์ ที่ก่อให้ความรู้สึกหวงแหน จนกลายเป็นปรากฏการณ์ขับชูสถานที่ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียกร้อง[14] ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การประกอบศาสนพิธี การชูธงแสดงจุดยืน การขับลำนำกวีสะท้อนเรื่องราวในลักษณะประวัติศาสตร์บาดแผล[15]

ในมิติประวัติศาสตร์ กรือเซะ (Krue Se, Kresek, Kresik) นอกจากจะมีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเองแล้ว ยังมีบาดแผลเป็นของตัวเองอีกด้วย ชื่อเดิมของกรือเซะคือ “ปิตูกรือบัน” หรือ “มัสยิดปินตูเกิรบัง” (Masjid Pintu Gerbang) กรือเซะเป็นมัสยิดที่ก่อสร้างด้วยอิฐ ซึ่งถือปืนหลังแรกของปัตตานีดารุสสลาม ทั้งยังถูกเชื่อว่าเป็นมัสยิดหลังแรกของปัตตานีและอาเชียอาคเนย์ที่ก่อสร้างตามสถาปัตยกรรมตะวันออกกลาง ส่วนการก่อสร้างเกิดขึ้นในสมัยใดนั้น ยังมีข้อถกเถียงในทางวิชาการหลายกระแส เช่น สมัยพญาอินทิรา (สุลต่านอิสมาอีล ชาห์) , สมัยสุลต่านมุศ็อฟฟัร ชาห์, สมัยสุลต่านลองยูนุส, สมัยต่วนสุหลง, หรือ สมัยรายาพระองค์หนึ่ง ส่วนบาดแผลที่กรือเซะได้รับ คือ การถูกเผาในช่วงการศึกระหว่างสยามและปาตานี[16]

ในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ล้วนแล้วแต่มีความพยายามจะบุกยึดปาตานีและรัฐมลายูทั้งหลาย[17] จนที่สุดก็สามารถผนวกรวมปาตานีและรัฐมลายูเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม-ไทยได้ แน่นอนว่ากรือเซะก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสยาม-ไทยด้วย

(ที่มา มัสยิดกรือเซะ พ.ศ. 2523 (ค.ศ.1980) โดย Georges Condominas) [18]

เวลาถัดมา วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2478 กรือเซะได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร แต่เกิดเสียงคัดค้านจากชาวบ้านให้ถอนทะเบียนกรือเซะออกจากโบราณสถาน เนื่องจากมัสยิดถูกทิ้งร้างไม่มีการใช้งานแต่อย่างใด ต่อมาในปี 2533 จึงเกิดเหตุประท้วงที่มัสยิดกรือเซะแบบอารยะขัดขืน คือ เข้าทำการละหมาดในพื้นที่มัสยิดในขณะที่มีสถานะเป็นโบราณสถานอยู่ ประกอบกับในช่วงนั้นมีการเผยแพร่ตำนานคำสาปแช่งให้มัสยิดกรือเซะสร้างไม่เสร็จตามนโยบายการท่องเที่ยว ยิ่งเป็นการสุมไฟใส่ฝืนที่กระทบมิติด้านศาสนาเพิ่มขึ้นอีก[19]

หากพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับข้อสังเกตของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์ปาตานีและเรื่องราวของกรือเซะ แม้เป็นเรื่องในอดีต แต่ถูกนำกลับมามีชีวิตอีกครั้งในปัจจุบัน[20] หรือที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เรียกว่า การทำให้ “ปัญหาเก่า” กลับมาเป็น “ปัญหาใหม่” อีกครั้ง[21]

3. กรือเซะ: “สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์” สู่ “มรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง”

อดีตรับใช้ปัจจุบัน ในส่วนนี้ผู้เขียนจะหยิบยกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกรือเซะมานำเสนอ เพื่อขยายภาพให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้วกรือเซะถูกเปลี่ยนแปลงบทบาทไปอย่างเป็นพลวัต สำหรับข้อมูลสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว ผู้เขียนได้พิจารณาเลือกมา 3 เรื่องราวที่ต่างมิติกัน โดยเรียงลำดับตามช่วงเวลา ดังนี้ 1) เหตุการณ์ประดิษฐานและการระเบิดปืนใหญ่พญาตานีจำลอง 2) กิจกรรม Terima Kresek ที่นำเสนอภาพวิถีชีวิตผ่านอัตลักษณ์มลายูมุสลิม 3) กิจกรรมแสดงออกทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล

3.1 เหตุการณ์ประดิษฐานและการระเบิดปืนใหญ่พญาตานีจำลอง:

ความก่อนหน้า ทำให้ทราบว่าสยามและปาตานีไม่ได้ลงรอยกันมาแต่เริ่มแรก จำรูญ เด่นอุดม เล่าว่าปาตานีตกเป็นส่วนหนึ่งของสยามในช่วงปี 2329[22] ผลพวงหลังสิ้นสุดสงครามทำให้ปาตานีต้องมอบปืนใหญ่ให้แก่สยามไทย หนึ่งในปืนที่ถูกส่งมอบมีชื่อว่า “ปืนใหญ่พญาตานี” ถือกันว่าเป็นปืนที่ใหญ่ที่สุด ด้วยความยาม 6.82 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางกระบอก 24 เซนติเมตร และปากกระบอกลำกล้องหนา 10 เซนติเมตร[23] ส่วนคำถามที่ว่าปืนใหญ่พญาตานีถูกสร้างโดยใครและสมัยไหนกันแน่นั้น ยังไม่อาจฟังเป็นยุติได้[24]ปัจจุบันถูกนำไปตั้งท้าแดดท้าฝนบริเวณหน้ากระทรวงกลาโหมกรุงเทพมหานคร



(ที่มา ประชาไท, สืบค้นออนไลน์ได้ที่
https://bit.ly/3xXXdyP)

ต่อมามีรายงานตามเอกสารประชาสัมพันธ์ของศูนย์การเรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี ต.ตันหยงลุโล๊ะ ปี 2546 ระบุว่า ชาวปัตตานีขอความอนุเคราะห์ไปยังคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรให้นำส่งปืนใหญ่กลับสู่มาตุภูมิ แต่ด้วยเหตุว่าปืนใหญ่พญาตานีมีฐานะเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปแล้ว จากนั้นได้มีพระบรมราชานุญาตให้หล่อจำลองขึ้น[25] โดยสำนักชั่งสิบหมู่ กรมศิลปากร ปืนใหญ่จำลองนี้มีน้ำหนัก 2 ตัน ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2556 ได้นำปืนใหญ่จำลองมาประดับไว้ที่มัสยิดกรือเซะ ทว่าวันที่ 11 มิถุนายน 2556 เกิดเหตุระเบิดปืนใหญ่จำลองจนเสียหาย[26] กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการทำปืนจำลองเท่าขนาดจริงมาประดิษฐานไว้อีกเลย

3.2 กิจกรรม Terima Kresek ที่นำเสนอภาพวิถีชีวิตผ่านอัตลักษณ์มลายูมุสลิม:

ความเบื้องต้น terima kresek (เตอริมอ-กรือเซะ) มาจากการเล่นคำในภาษามลายู คำว่า terima kasih (เตอริมอ-กาเสะ) ที่แปลว่า ขอบคุณ ส่วนเนื้อหาการจัดงานดังกล่าว เริ่มขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 29-30 กรกฎาคม 2561 ภายใต้บรรยากาศประวัติศาสตร์มลายู วัฒนธรรมมลายู อาหารและนิทรรศการภาพถ่าย[27]

กิจกรรมดังกล่าว เป็นไปในลักษณะการฟื้นฟู อนุรักษ์ นำเสนอวัฒนธรรมมลายูแบบที่เน้นความคิดสร้างสรรค์และไม่ใช้ความรุนแรง (soft power) แน่นอนว่าสถานที่ที่ถูกคัดเลือกให้มาเป็นเวทีนำเสนอกิจกรรมเหล่านี้ คือ มัสยิดกรือเซะ นอกจากมิติทางด้านวัฒนธรรมแล้ว กรือเซะก็ยังถูกใช้เป็นเวทีแสดงออกข้อเรียกร้องทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน

3.3 กิจกรรมแสดงออกทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล:

วันที่ 2 สิงหาคม 2563 เกิดการรวมตัวกันของเยาวชนที่แต่งกายด้วยชุดมลายู ใช้ภาษามลายู-ไทย ขับร้องอนาชิด (ประเภทหนึ่งของเพลง) ชูสาวนิ้ว รวมถึงชูรูปภาพบุคคลที่สูญหายทางการเมือง เป็นสัญลักษณ์แสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาล[28] เช่นเดียวกันกับสองกรณีตัวอย่างข้างต้นที่กรือเซะถูกใช้เป็นสถานที่ในการรวมตัวและแสดงออกทางการเมือง

รวมความแล้วจะเห็นได้ว่า ทุกกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมือง สถานที่ที่ถูกให้ความสำคัญมากที่สุด คือมัสยิดกรือเซะ พูดอีกอย่างได้ว่ากรือเซะถูกทำให้รู้จักและมีพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรมในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติศาสนกิจ นำเสนออัตลักษณ์เชิงสร้างสรรค์ และการถูกทำให้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์การเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

4. บทสรุป

บทความนี้พยายามนำเสนอสององค์ 2 ประกอบหลัก ได้แก่ องค์ประกอบแรก การรำลึกวันครบรอบ 18 ปี ของเหตุการณ์กรือเซะ โดยเสนอรายละเอียดแง่มุมจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง และ องค์ประกอบที่สอง คือความเป็นมา ความสำคัญ และพลวัตของมัสยิดกรือเซะ ทั้งสององค์ประกอบดูเป็นคนละเรื่องกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นในมิติทางประวัติศาสตร์ ในด้านหนึ่งเพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงความสูญเสีย รวมถึงเพื่อให้ผู้ก่อการและเจ้าหน้าที่ได้พึงสังวร ในอีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานเขียนลักษณะนี้เป็นการผลิตซ้ำความเจ็บปวดจากบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจจะกระทบจิตใจของผู้ที่อยู่ข้างหลังไม่น้อย ผู้เขียนขออภัยมา ณ ที่นี้

คำลงท้ายบทความนี้ ผู้เขียนยังอยาก “ถือวิสาสะ” ลงท้ายบทความแบบผิดขนบการเขียนบทความที่ไม่ตรงกับหัวข้อสักเล็กน้อย โดยส่งสาส์นไปถึงบรรดาผู้อ่านทั้งหลาย เกี่ยวกับการให้เกียรติความรู้สึกของคนในพื้นที่ เช่นการใช้วาทกรรมส่งคนไม่ดีลงใต้ เป็นต้นว่า “ส่งมันลงใต้” “นักเรียนตีกัน ซ่านักก็ส่งมันลงใต้ไปดัดสันดาน” “ข้าราชการเลวๆ แบบนี้ น่าจับส่งลงสามจังหวัดให้หมด” ผู้เขียนขอทิ้งทวนไปยังผู้ริเริ่มวาทกรรมเหล่านี้ว่าสามจังหวัดไม่ใช่กระโถนรองรับความเลวทรามของสังคมไทย

อ้างอิง

[1] หากมีข้อแลกเปลี่ยนหรือพบข้อผิดพลาดกรุณาแนะนำผู้เขียนได้ที่ e-mail: [email protected]

[2] ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข, “มองวิชาสิทธิมนุษยชน (และอื่นๆ ) ผ่านคำย้ำเตือนในการศึกษาภาคสนามทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา,” ประชาไท, เผยแพร่วันที่ 12 เมษายน 2558, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3xTeDwI

[3] สุรชาติ บำรุงสุข, วิกฤตใต้: สู้ด้วยยุทธศาสตร์และปัญญา, พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: อนิเมทกรุ๊ป, 2547.

[4] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “เหตุการณ์ความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้” กับ “ประวัติศาสตร์บาดแผล,” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2548, เผยแพร่วันที่ 24 กุมพาพันธ์ 2564, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3ORj15w

[5] ธงชัย วินิจจะกูล, “ธงชัย วินิจจะกูล: คนเดือนตุลา ปฏิบัติการแห่งความทรงจำ,” งานเสวนาหัวข้อ “เสวนาว่าด้วยเรื่องคนเดือนตุลา,” Book Re: public เชียงใหม่, วันที่ 13 กรกฎาคม 2556, อ้างถึงใน ประชาไท, เผยแพร่วันที่ 17 กรกฎาคม 2556, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3ERQOqs

[6] ศิลปวัฒนธรรม, “28 เมษายน 2547: เกิดเหตุปะทะอย่างรุนแรงที่ “กรือเซะ” ผู้ก่อเหตุเสียชีวิตรวม 108 ศพ,” เผยแพร่วันที่ 28 เมษายน 2564, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3vFNZo8

[7] มีดพกชนิดหนึ่งตามจารีตมลายู มีลักษณะโค้งสลับไปมาคล้ายงู บางข้อมูลอธิบายว่า กริชถูกใช้เป็นเครื่องบ่งบอกฐานะทางสังคมและยศถาบรรดาศักดิ์ เชื่อกันว่าในสมัยโบราณหากเจ้าบ่าวไม่สามารถเข้าร่วมพิธีแต่งงานด้วย อาจส่งกริชมาแทนตัว และถือว่าการแต่งงานนั้นสมบูรณ์ตามประเพณี ดู ทรงกลด บางยี่ขัน, “Pattani Multicultural City: รู้จักปัตตานี เมืองแห่งการผสานวัฒนธรรมทั้งมลายู จีน พุทธ ตะวันตก ผ่านอ่านหาร สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรม จนเกิดเป็นอัตลักษณ์มากสเน่ห์,” เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3kjAzsY

[8] ศิลปวัฒนธรรม, “28 เมษายน 2547: เกิดเหตุปะทะอย่างรุนแรงที่ “กรือเซะ,” อ้างแล้ว .

[9] พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ให้สัมภาษณ์ในรายการจับเข่าคุย ช่อง 3 (สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการ) , สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3xYFojl

[10] สปริง รีพอร์ต, “10  ปีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ โศกนาฏกรรมในอดีต,” 28 เมษายน 2557, สืบค้นได้ที่ https://bit.ly/3kdFpaS

[11] ธงชัย วินิจจะกูล, อ้างแล้ว.

[12] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อ้างแล้ว.

[13] วลัย บุปผา, การจัดการมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่ขัดแย้ง กรณีศึกษา ตำนานมัสยิดกรือเซะ, วิทยานิพนธ์สาขาการบริหารงานวัฒนธรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, หน้า 10

[14] Shawqi Kassis, Samih al-Qasim: Equal Parts Poetry and Resistance, Journal of Palestine Studies vol.44, no.2, (winter 2015) .

[15] See at Nora F. Boayrid, Resistance through the Language of Palestine Poets, Linguistics and Literature Studies 7 (2) : 51-56, 2019, Riyadh, Kingdom of Saudi-Arabia.

[16] วลัย บุปผา, อ้างแล้ว, หน้า 12-17

[17] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อ้างแล้ว.

[18] TANTONGLULOK: ตันหยงลุโละ, เผยแพร่วันที่ 15 ธันวาคม 2561, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3kntUxD

[19] วลัย บุปผา, อ้างแล้ว, หน้า 26

[20] อ้างถึงใน พิเชฐ แสงทอง, “โปรดฟังอีกครั้ง…ประวัติศาสตร์บาดแผลในชายแดนภาคใต้: จาก “ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย” ถึง “ประวัติศาสตร์วิพากษ์: สยามไทยกับปัตตานี”,” สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2557, หน้า 266

[21] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อ้างแล้ว.

[22] จำรูญ เด่นอุดม, ดุซงญอ กรือเซะ ตากใบ และการยอมรับความจริงในสังคมไทย, การบรรยายสาธารณะวันที่ 13 พฤษภาคม 2552, มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, สืบค้นได้ที่ https://bit.ly/3s0MAaP

[23] สยามานุสสติ, “พญาตานี ปืนใหญ่แห่งสยาม เคยมีชื่อเสียงเลื่องลือ พระจักรพรรดิญี่ปุ่นยังอ้อนวอนขอ!” เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3rUSU3H

[24] ปรามินทร์ เครือทอง, “ตำนานปืนใหญ่พญาตานี,” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคา 2547, เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3ER5pTc

[25] ประชาไท, “ปืนใหญ่พญาตานีคืนถิ่น พระบรมราชานุญาตให้หล่อจำลองวางหน้ามัสยิดกรือเซะ,” เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2556, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3xXXdyP

[26] เลขา เกลี้ยงเกลา และ นาซือเราะ เจะฮะ, “บึ้มสั่น-ปืนพญาตานีจำลองหัก,” สำนักข่าวอิสรา, เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2556, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3kgRNqC

[27] Terima Kresek, ‘TERIMA KRESEK ครั้งที่ 1: วันเวลาที่สวยงาม,’ 12 กรกฎาคม 2561, สืบค้นออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3ERalaw

[28] มติชน, เยาวชนปัตตานีรวมตัว ชุมนุมหน้ามัสยิดกรือเซะ “ชูสามนิ้ว” ไล่รัฐบาลประยุทธ์, 2 สิงหาคม 2563, สืบค้นได้ที่ https://bit.ly/3xZrgpY

Tags: newsข่าวจังหวัดปัตตานี
Previous Post

ด่วน! ขอรับบริจาคดวงตา ช่วย ตร.อีโอดี เหยื่อระเบิดที่ปัตตานี หวั่นตาบอดถาวร – ข่าวสด

Next Post

ความท้าทายและข้อจำกัดสื่อไทย ตรวจสอบข้อเท็จจริง-แสวงหาสันติภาพ

ปัตตานี

ปัตตานี

เมืองงามสามวัฒนธรรม ศูนย์ฮาลาลเลิศล้ำ ชนน้อมนำศรัทธา ถิ่นธรรมชาติงามตา ปัตตานีสันติสุขแดนใต้

Related Posts

อนุทิน-ให้กำลังใจทีมหมอ-จนท.ดูแลผู้แสวงบุญ-แนะร่วมพิธีฮัจย์ควรได้วัคซีนโควิด-4-เข็ม
ข่าว

อนุทิน ให้กำลังใจทีมหมอ-จนท.ดูแลผู้แสวงบุญ แนะร่วมพิธีฮัจย์ควรได้วัคซีนโควิด 4 เข็ม

พฤษภาคม 27, 2022
ดราม่า-'พปชร.'-ส่องนโยบายหาเสียง-3-ปี-ของจริงหรือขายฝัน?-|-เดลินิวส์
ข่าว

ดราม่า 'พปชร.' ส่องนโยบายหาเสียง 3 ปี ของจริงหรือขายฝัน? | เดลินิวส์

พฤษภาคม 27, 2022
มทภ4-ผบชภ9-แถลงผลจับเครือข่ายค้ายาชายแดนใต้-ยึดยาบ้า-1.5-ล้านเม็ด
ข่าว

มทภ.4-ผบช.ภ.9 แถลงผลจับเครือข่ายค้ายาชายแดนใต้ ยึดยาบ้า 1.5 ล้านเม็ด

พฤษภาคม 27, 2022
สพร.23 ปัตตานี สร้างเครือข่าย จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน
ข่าว

สพร.23 ปัตตานี สร้างเครือข่าย จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน

พฤษภาคม 26, 2022
มาแน่!-สะพานแยกตะลุโบะ-เพิ่มความสะดวกชาว-“ปัตตานี”-|-เดลินิวส์
ข่าว

มาแน่! สะพานแยกตะลุโบะ เพิ่มความสะดวกชาว “ปัตตานี” | เดลินิวส์

พฤษภาคม 26, 2022
ศบค.ย้ำ 46 จังหวัดพื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามเปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ 1 มิ.ย.นี้
ข่าว

ศบค.ย้ำ 46 จังหวัดพื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามเปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ 1 มิ.ย.นี้

พฤษภาคม 26, 2022
Next Post
ความท้าทายและข้อจำกัดสื่อไทย-ตรวจสอบข้อเท็จจริง-แสวงหาสันติภาพ

ความท้าทายและข้อจำกัดสื่อไทย ตรวจสอบข้อเท็จจริง-แสวงหาสันติภาพ

บทความ แนะนำ

ผู้ว่าฯปัตตานีเป็นประธานถวายภัตตาหารพระภิกษุ-ตามโครงการจิตอาสา-“กำลังใจพัชรธรรม”

ผู้ว่าฯปัตตานีเป็นประธานถวายภัตตาหารพระภิกษุ ตามโครงการจิตอาสา “กำลังใจพัชรธรรม”

พฤษภาคม 23, 2022
565000004906101.jpg

เยาวชนชายแดนภาคใตร่วมงาน “มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ และการอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยชายแดนใต้”

พฤษภาคม 22, 2022
ศอบต.สำรวจชุมชนจีนฮากกาอายุกว่า-150-ปี-เมืองเบตง-เตรียมฟื้นฟูเป็น-soft-power

ศอ.บต.สำรวจชุมชนจีนฮากกาอายุกว่า 150 ปี เมืองเบตง เตรียมฟื้นฟูเป็น Soft Power

พฤษภาคม 24, 2022
มทภ4-ผบชภ9-แถลงผลจับเครือข่ายค้ายาชายแดนใต้-ยึดยาบ้า-1.5-ล้านเม็ด

มทภ.4-ผบช.ภ.9 แถลงผลจับเครือข่ายค้ายาชายแดนใต้ ยึดยาบ้า 1.5 ล้านเม็ด

พฤษภาคม 27, 2022

ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำงวดวันที่ 1 มิถุนายน 2565

พฤษภาคม 25, 2022

หมวดบทความ

การก่อสร้าง การขนถ่ายสินค้า การขุด หรือเจาะบ่อน้ำ การค้าวัสดุก่อสร้าง การฆ่าสัตว์ การผลิต การบรรจุก๊าซ การผลิตน้ำมันพืช การผลิตน้ำแข็ง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตรองเท้า การผลิตเส้นไหม การรีดโลหะ ผลิตเหล็ก การหล่อหลอม การกลึงโลหะ การเลี้ยงสัตว์ กิจกรรม ข่าว ตรวจหวย ธุรกิจ บริการซัก อบ รีด บริษัท ปัตตานี มูลนิธิ ร้านค้า วิถีชีวิต สถานที่ท่องเที่ยว สถานศึกษา สพป.ปัตตานี เขต 1 สพป.ปัตตานี เขต 2 สพป.ปัตตานี เขต 3 สพม.เขต 15 สมาคม สำนักงานจัดการเดินทาง หน่วยงานราชการ อบต. อาหาร เอสเอ็มอี แฟรนไชส์ โรงงาน โรงพยาบาล บริการสุขภาพ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนศิลปะและกีฬา โรงเรียนสอนวิชาชีพ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนสามัญ โอทอป

เกี่ยวกับเรา ปัตตานี



เป็นศูนย์รวมในการนำเสนอข้อมูลเพื่อสนับสนุนธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัด และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะและ ให้คำแนะนำเพื่อเป็นประโยชน์แก่สมาชิก อีกทั้งยังเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ต่าง ๆ อีกด้วย

ผู้สนับสนุนในปัตตานี


  • เมืองไทย
  • อุทัยธานี
  • อุตรดิตถ์
  • ยะลา
  • สมุทรปราการ
  • อำนาจเจริญ

  • บริษัท
  • บริษัท
  • คอนโด
  • หมู่บ้าน
  • ลงทุน
  • โรงเรียน
  • โฆษณาออนไลน์
  • โฆษณาออนไลน์
  • คำขวัญประจำจังหวัดปัตตานี

    เมืองงามสามวัฒนธรรม ศูนย์ฮาลาลเลิศล้ำ ชนน้อมนำศรัทธา ถิ่นธรรมชาติงามตา ปัตตานีสันติสุขแดนใต้


    จองโรงแรม ปัตตานี
    InterServer Web Hosting and VPS

    ต้องการมี เว็บไซต์ ของตนเอง / บริษํท / ห้างร้าน ติดต่อเรา ให้บริการสร้างเว็บไซต์ และ ให้บริการปรึกษาแนวทาง รวมถึง รับดูแลเว็บไซต์ ของท่านให้ดีและสวยงาม
    • การศึกษา
    • ก่อสร้าง
    • บริการ
    • กฏหมาย
    • ท่องเที่ยว
    • พนัสนิคม
    • ราชการ
    • ผู้ผลิต
    • ไฟฟ้า
    • แผนผังเว็บไซท์

    © 2021 Bethailand - Premium Local news & magazine online.

    No Result
    View All Result
    • ปัตตานี
    • ข่าว
    • กิจกรรม
    • หางาน
    • ธุรกิจ
    • ร้านค้า
    • วิถีชีวิต
      • คนสำคัญ
    • สถานที่ท่องเที่ยว
    • สถานศึกษา
    • ผู้สนับสนุนเว็บ
    • ติดต่อเรา

    © 2021 Bethailand - Premium Local news & magazine online.

    Welcome Back!

    Login to your account below

    Forgotten Password? Sign Up

    Create New Account!

    Fill the forms below to register

    All fields are required. Log In

    Retrieve your password

    Please enter your username or email address to reset your password.

    Log In
    เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อพัฒนาประสบการณ์และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้กับผู้ใช้ ท่านตกลงใช้คุกกี้เพื่อใช้งานเว็บไซต์นี้ต่อไป อ่าน นโยบายการใช้งาน.