วันนี้ ( 7 มิ.ย.64) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวเรื่อง “การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย” โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าการติดตามไวรัสกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในการระบาดระลอกใหม่เดือน เม.ย.- พ.ค.64 เพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่ห่วงกังวล 4 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟา(อังกฤษ) เบตา (แอฟริกาใต้) แกรมมา ( บราซิล) และเดลตา (อินเดีย) ทั้งนี้ผลการตรวจรหัสพันธุกรรมเชื้อในประเทศไทย พบสายพันธุ์อัลฟา 3,595 ตัวอย่าง สายพันธุ์เบตา 26 ตัวอย่าง และสายพันธุ์เดลตา 235 ตัวอย่าง พบว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 90% เป็นต้นเหตุของการระบาดระลอกใหม่ พบเกือบทุกจังหวัด และเข้ามาแทนสายพันธุ์ที่เคยระบาดอยู่ในประเทศไทย
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ส่วนสายพันธุ์เดลตา ( อินเดีย) พบรายงานครั้งแรกในแคมป์หลักสี่ กรุงเทพฯ และมีการระบาดออกไปในภาคเหนือและภาคอีสานตามกลุ่มแรงงานที่เดินทางกลับบ้าน โดยพบแล้ว 235 คน หรือคิดเป็น 6% โดยพบสูงสุดใน กทม. 206 คน นนทบุรี 2 คน พิษณุโลก 2 คน สระบุรี 2 คน ร้อยเอ็ด 1 คน อุดรธานี 17 คน นครราชสีมา 2 คน อุบลราชธานี 1 คน สมุทรสงคราม 1 คน บุรีรัมย์ 1 คน โดยกรณี จ.อุดรธานีพบเป็นจำนวนมาก จากงานบายศรีสู่ขวัญ ขณะนี้กำลังเร่งสอบสวนโรคว่าเชื่อมโยงกับแคมป์คนงานก่อสร้างหลักสี่อย่างไร
สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) พบรายงานครั้งแรกในจังหวัดชายแดนภาตใต้ เนื่องจากสายพันธุ์นี้ระบาดในรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย พบได้จากกลุ่มบุคคลที่เดินทางข้ามพรมแดนไทยและมาเลเซีย ซึ่งต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดสำหรับผู้ป่วยในจังหวัด ปัตตานี สงขลา และนราธิวาส โดยสายพันธุ์นี้ตรวจพบ 26 คน โชคดีที่เชื้อยังไม่กระจายออกนอก จ.นราธิวาส แต่ยังวางใจไม่ได้ ต้องควบคุมให้อยู่ในพื้นที่ให้นานที่สุด
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ประเทศไทยตรวจพบสายพันธุ์โควิด พบว่าเชื้อกลายพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นเชื้อที่นำเข้ามาจากประเทศอื่น ยังไม่พบการกลายพันธุ์ที่พบได้เฉพาะในประเทศไทย ซึ่งการระบาดครั้งนี้มีการติดเชื้อใหม่เป็นจำนวนมากต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ในประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ ไวรัสลูกผสม และการติดเชื้อต่างสายพันธุ์ในคนเดียวกัน ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เกิดการระบาดหลังสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) แต่สายพันธุ์เบตาแพร่กระจายได้ช้า ส่งผลให้สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ระบาดครองโลก และทำให้เกิดการระบาดในวงกว้างในไทย เนื่องจากมีปริมาณไวรัสในลำคอจำนวนมาก ขณะที่สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แพร่เร็วกว่าอังกฤษ หากเกิกการระบาดอาจยากต่อการควบคุมและอาจมาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์แอฟริกาใต้แม้แพร่กระจายช้า ก็เป็นสายพันธุ์ที่ต้องกังวลเพราะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพวัคซีนและภูมิคุ้มกัน