วันที่ 18 ธันวาคม 2563 เวลา 17.40 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเป็นประธานในการพระราชทานรางวัลการทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระดับภาคใต้ และระดับประเทศ ประจำปี 2563 ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี และเสด็จฯ ไปในการพระราชทานโล่เกียรติคุณและเงินรางวัล แก่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และอิหม่ามที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ประจำปี 2561 และพระราชทานรางวัลแก่ผู้แทนโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน ครูและนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ ประจำปี 2561 ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
ครั้นเสด็จถึงมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เสด็จเข้าสู่ห้องโถงภายในมิสยิดกลาง พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายมูฮำมัด หะยีมูซอ ผู้ชนะเลิศการทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระดับประเทศ ประจำปี 2561 อัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน นายสมาน ก้อพิทักษ์ แปลความหมายเป็นภาษาไทย และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กราบบังคมทูลเบิกผู้ชนะเลิศ รองชนะเลิศ รางวัลชมเชย คณะกรรมการตัดสิน และผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานฯ เข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัล และโล่ที่ระลึก จำนวน 36 รายตามลำดับ
จากนั้นพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายประสาน ศรีเจริญ รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิสำนักจุฬาราชมนตรี ผู้แทนจุฬาราชมนตรีขอดุอาอ์ และขอพรจากพระเจ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงยืน และยกพระหัตถ์ ตามผู้แทนจุฬาราชมนตรี แล้วทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้นำศาสนาอิสลามตามพระราชอัธยาศัย
ทั้งนี้ ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดปัตตานีกว่าร้อยละ 80% นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งศาสนาอิสลามมิใช่ศาสนาเพียงให้คนนับถือเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจเท่านั้น แต่ศาสนาอิสลามยังเป็นระบบของการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกย่างก้าวของชีวิตมุสลิมต้องอยู่บนครรลองของศาสนาอิสลาม ชาวไทยมุสลิมจึงได้นำหลักธรรมคำสอนในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต
จังหวัดปัตตานี โดยสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี จึงได้ร่วมกันจัดงานทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ระดับภาคใต้และระดับประเทศ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2563 ขึ้น ในระหว่างระหว่างวันที่ 20-22 มกราคม 2563 ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้พี่น้องชาวไทยมุสลิม ได้รู้หลักธรรมคำสอนในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้อย่างถ่องแท้ และปฏิบัติอย่างถูกต้องตรงต่อพระมหาคัมภีร์ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคี ความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้องมุสลิมด้วยกันและระหว่างพี่น้องต่างศาสนิก
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินออกจากห้องโถงมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ไปยังบริเวณลานจอดรถมัสยิดกลางปัตตานี ทอดพระเนตรการสาธิตการทอผ้าจวนตานีโดยกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านตรัง จ.ปัตตานี ที่ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างโรงทอผ้า และพระราชทานกี่ทอผ้าจำนวน 10 กี่ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี พ.ศ.2526
จากนั้นทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ OTOP จากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ได้จัดนิทรรศการ สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย โดยได้นำผ้าจวนตานี อันเป็นผ้าที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์การใช้เครื่องนุ่งห่มของชาวไทยมุสลิม และชาวไทยพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.สงขลา มาจัดแสดง รวมถึงนำสินค้า OTOP เช่น ข้าวยำสำเร็จรูป น้ำบูดู เกลือปัตตานี ลูกหยีระยัง และผ้าละหมาด ตำบลกระหวะ อันเป็นผ้าที่ชาวไทยมุสลิมใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจมาจำหน่าย
จากนั้นทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองแพทย์หลวง ร่วมกับกรมการแพทย์ทหารบก สาธารณสุขจังหวัดปัตตานีและโรงพยาบาลในพื้นที่มาออกหน่วยตรวจรักษาโรคให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งในวันนี้มีผู้มาเข้ารับบริการตรวจรักษาจำนวน 68 ราย
การนี้ทรงรับคนไข้ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์จำนวน 6 ราย พร้อมพระราชทานชุดยาและเงินค่าพาหนะในการเดินทางไปเข้ารับการรักษา ยังความปลาบปลื้มสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้ป่วยและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้