เขียนวันที่
วันเสาร์ ที่ 14 มกราคม 2566 เวลา 12:09 น.
คดีวางระเบิดครั้งรุนแรงที่ปั๊มน้ำมันบางจากใกล้แยกดอนยาง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เรียกได้ว่าต้องกลับมาเริ่มต้นสืบสวนสอบสวนกันใหม่อีกครั้ง เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเกือบทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่จับกุมมา ทั้งๆ ที่บางส่วนรับสารภาพ
เหตุระเบิดที่สถานีบริการน้ำมัน และวางเพลิงร้านค้าภายในปั๊ม ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 (ปัตตานี – หาดใหญ่) ใกล้แยกดอนยาง ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 17 ส.ค.65 เป็นการวางระเบิดรถบรรทุกน้ำมันที่จอดเติมน้ำมันอยู่ภายในปั๊ม ทำให้เกิดระเบิดครั้งรุนแรงมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพเอาไว้ได้ และส่งต่อภาพที่น่าสะพรึงกลัว โดยเฉพาะการก่อเหตุอย่างอุกอาจนี้ไปทั่วประเทศ
เหตุระเบิดปั๊มบางจาก เป็นหนึ่งใน 17 เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในคืนเดียวกัน โดยในคืนนั้นยังมีเหตุวางระเบิดปั๊มน้ำมัน และระเบิดเพลิงในร้านสะดวกซื้อทั่วพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกอย่างน้อย 16 จุด รวมเป็น 17 จุด แยกเป็น จ.ยะลา 6 จุด ปัตตานี 2 จุด และนราธิวาส 9 จุด มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
นับเป็นเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบปี 2565 และหลายๆ จุดมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพปฏิบัติการของคนร้ายเอาไว้ได้ ซึ่งทุกจุดเป็นการก่อเหตุอย่างอุกอาจ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยจุดเกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นในปั๊มน้ำมัน และร้านมินิบิ๊กซี ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกที่กำลังขยายตัว ขยายสาขาอย่างรวดเร็วในพื้นที่ ทำให้ฝ่ายความมั่นคงมองว่าเป็นการพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อทำลายภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวของสามจังหวัดชายแดน
จุดเกิดเหตุที่รุนแรงและสร้างความเสียหายมากที่สุด คือเหตุระเบิดปั๊มน้ำมันบางจาก ใกล้แยกดอนยาง ริมทางหลวงสายใหญ่ที่จะมุ่งหน้าไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการคมนาคมขนส่งของภาคใต้ตอนล่าง
หลังเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่ทยอยจับกุมผู้ต้องสงสัยเอาไว้ได้ และใช้วิธีการซักถาม โดยใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ เพื่อให้ผู้ต้องสงสัยซัดทอดคนในขบวนการที่รู้เห็นกับเหตุการณ์
ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญคือ นายมะรุสดี มะนุ อายุ 28 ปี ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าให้การรับสารภาพ และมีการนำตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพด้วย โดยตามข่าวที่อ้างอิงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงระบุว่า นายมะรุสดี ได้ให้การยอมรับว่าตนเองกับพวกอีก 3 คน คือ นายมะนาเซร์ ไซรดี, นายมะนัง บาราเฮง และ นายซาการียา ดือเระ ที่อยู่ระหว่างหลบหนี ร่วมกันวางแผนก่อเหตุลอบวางระเบิดและวางเพลิงปั๊มน้ำมันบางจากจริง
สำหรับ นายมะรุสดี มะนุ ที่ถูกนำมาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าควบคุมตัวเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 6 ก.ย.65 ที่บริเวณห้าแยกถนนเจริญประดิษฐ์ อ.เมืองปัตตานี แล้วถูกนำตัวไปลงบันทึกการควบคุมตัวที่ สภ.เมืองปัตตานี และถูกส่งตัวเข้าสู่กระบวนการซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
แต่หลังจากมีข่าวการจับกุมและการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์บิดบังใบหน้า เพื่อไม่ให้สื่อมวลชนเห็นใบหน้าที่แท้จริงด้วยนั้น มีการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง กลับพบว่าไม่เคยปรากฏชื่อ นายมะรุสดี มะนุ รวมไปถึงพรรคพวกอีก 3 คนที่ถูกซัดทอดคือ นายมะนาเซร์ ไซรดี, นายมะนัง บาราเฮง และ นายซาการียา ดือเระ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แต่อย่างใด
“ทีมข่าวอิศรา” ได้รวบรวมข้อมูลการใช้กฎหมายพิเศษควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่ถูกระบุว่า อาจจะเกี่ยวโยงกับเหตุลอบวางระเบิดปั๊มน้ำมันบางจาก โดยไล่เรียงตามวัน-เวลาหลังเกิดเหตุ ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.65 ถึงวันที่ 22 ก.ย.65 รวมเวลา 1 เดือน มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 13 ราย รวมถึงนายมะรุสดี มะนุ ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าให้การรับสารภาพ และมีการนำตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ (อ่านประกอบ : 35 วันล่ามือบึ้มปั๊มบางจาก กวาดจับ 13 สารภาพ 1)
ผู้ต้องสงสัยรายสุดท้ายที่ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 22 ก.ย.65 คือ นายอดุลรอนี มะเด็ง อายุ 37 ปี ถูกจับกุมที่หมู่ 3 ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถูกส่งตัวไปควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยเป็นการถูกซัดทอดจากผู้ต้องสงสัยรายอื่นๆ ว่า นายอดุลรอนี ทำหน้าที่ดูต้นทางในวันก่อเหตุวางระเบิดปั๊มน้ำมันบางจาก แต่ปรากฏว่าในวันที่มีการทำแผนประกอบคำรับสารภาพของ นายมะรุสดี มะนุ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.65 กลับไม่มีการนำทีมที่อ้างว่าทำหน้าที่ “ดูต้นทาง” มาร่วมทำแผนประทุษกรรมด้วยแต่อย่างใด
@@ สั่งไม่ฟ้องยกล็อต – ฟ้องแค่ 1 – ปล่อยตัวเกือบทั้งทีม
ล่าสุด “ทีมข่าวอิศรา” ได้รับการยืนยันจากพนักงานสอบสวนที่ทำคดีนี้ว่า อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 12 คน ซึ่งบางส่วนก็คือกลุ่มผู้ต้องสงสัย 13 คนที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่หลังเกิดเหตุนั่นเอง และได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยทั้งหมดเป็นอิสระแล้ว เนื่องจากหมดอำนาจการควบคุมตัว และไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ เพิ่ม มีเพียง นายมะรุสดี มะนุ เพียงคนเดียวเท่านั้นที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเพื่อดำเนินคดีในชั้นศาล เพราะเจ้าตัวให้การรับสารภาพ
สำหรับกลุ่มผู้ต้องหา (ผู้ต้องสงสัย) ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 13 คน และได้รับการปล่อยตัว เพราะอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ประกอบด้วย
– นายอับดุลรอเซะ สลาวะ อายุ 25 ปี และนายมุสลิม เจะเมาะ อายุ 22 ปี ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 22 ส.ค.65
– นายอิสมาแอ ลาเต๊ะ อายุ 26 ปี และ นายอับดุลราฟัต เปาะเย็ง อายุ 24 ปี ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 25 ส.ค.65
– นายสูนสิบลี มะเซ็ง อายุ 35 ปี และ นาย มะยากี มะลี อายุ 29 ปี ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 31 ส.ค.65
– นายอับดุลเลาะห์ สามะ อายุ 46 ปี ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 3 ก.ย.65
– นายมะนาเซ ดารี อายุ 41 ปี และ นายมะรุสดี มะนุ อายุ 28 ปี ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 6 ก.ย.65
– นายรอฮีซะ แวอาแซ อายุ 39 ปี ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 7 ก.ย.65
– นายซุลกิฟลี สะวี อายุ 46 ปี และ นายสาหะอาลี ยูนุ อายุ 32 ปี ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 14 ก.ย.65
– นายอดุลรอนี มะเด็ง อายุ 37 ปี ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 22 ก.ย.65
@@ คาดสั่งไม่ฟ้องคดีบึ้มปั๊ม ต้นเหตุย้ายผู้การปัตตานี
อีกด้านหนึ่ง มีข้อมูลจากพนักงานสอบสวนที่ทำคดีนี้ ระบุว่า ในชั้นสอบสวนมีการแจ้งข้อหาผู้ที่ถูกระบุว่าเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดปั๊มน้ำมันบางจากใกล้แยกดอนยางจำนวน 12 คน โดย 12 คนนี้มีสถานะเป็นผู้ต้องหา เป็นการถูกควบคุมตัว 7 คน มอบตัวเอง 1 คน และหลบหนี 4 คน
ในจำนวน 7 คนที่ได้ตัวมาแล้ว มีการทำสำนวนส่งฟ้องไปที่พนักงานอัยการ แต่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง 6 คน สั่งฟ้องดำเนินคดีในชั้นศาลเพียง 1 คน จึงต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาที่เหลือทั้งหมดเป็นอิสระ
คดีนี้มีข่าวในแวดวงตำรวจชายแดนใต้ว่า น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งในการโยกย้ายนอกฤดู พล.ต.ต.นรินทร์ บูสะมัญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (ผบก.ภ.จว.ปัตตานี) ที่มีข่าวว่าจะถูกย้ายระนาบไปเป็นผู้บังคับการกองกฎหมายและคดี ภาค 9 (ผบก.กมค.ภาค 9) เพราะเจ้าตัวมีความเห็นไม่ตรงกับผู้บังคับบัญชา ในคดีลอบวางระเบิดปั๊มน้ำมันบางจาก ซึ่งมีการแจ้งข้อหาดำเนินคดีผู้ต้องหา 12 คน จับกุมได้ 7 คน โดย พล.ต.ต.นรินทร์ เห็นว่าคดียังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะสั่งฟ้องผู้ต้องหา แต่ผู้บังคับบัญชามีนโยบายให้สั่งฟ้องไปก่อน ทว่าสุดท้ายอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเกือบทั้งหมด จนต้องปล่อยตัว
@@ ได้เวลายกระดับกระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้
นายตำรวจมือสอบสวนคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า กฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ที่ให้อำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงโดยไม่ต้องแจ้งข้อหา เป็นเวลา 7 วัน และ 30 วันตามลำดับ (ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ นำกฎหมายพิเศษ 2 ฉบับมาใช้ร่วมกัน จึงสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ในระยะเวลาสูงสุด 37 วัน โดยไม่ต้องแจ้งข้อหา) นั้น ในแง่ของกระบวนการยุติธรรมและการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาแล้ว จริงๆ ไม่สามารถช่วยอะไรเลย
“คำให้การและคำซัดทอดที่ได้รับในชั้นควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ ไม่สามารถนำไปเป็นพยานหลักฐานในศาลได้ เพราะพยานหลักฐานที่จะเอาผิดได้ คือพยานหลักฐานตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ รวมถึงพยานหลักฐานที่ได้จากการเก็บรวบรวม และคำให้การตาม ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา)”
“ฉะนั้นมันถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำคดีแบบมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพราะกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมจะสามารถตอบโจทย์สันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ และมาตรฐานของพนักงานสอบสวนต้องมีพอๆ กับอัยการ และศาล ฉะนั้นตำรวจจึงต้องทำงานแบบเน้นคุณภาพ ไม่ใช่ใช้เพียงกฎหมายพิเศษจับกุมผู้ต้องสงสัยมาเข้ากระบวนการซักถาม เพื่อเอาคำซัดทอดมาดำเนินคดีเท่านั้น เพราะคดีที่ทำแบบนั้น ส่วนใหญ่อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง และศาลก็ยกฟ้อง เมื่อผลคดีออกมาเอาผิดไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็จะตอบคำถามครอบครัวผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย และประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ ซ้ำยังต้องจ่ายเงินเยียวยาอีกจำนวนมหาศาลที่คนเหล่านั้นถูกควบคุมตัวและถูกกังขังระหว่างพิจารณาคดีด้วย” นายตำรวจมือสอบสวนคดีความมั่นคงชายแดนใต้ ระบุ