“บิ๊กตู่” มอบนโยบายจัดทำงบปี 67 ย้ำใช้จ่ายถูกต้อง คุ้มค่า สุจริตโปร่งใส ฮึ่มพบทุจริตฟันเด็ดขาดไม่เว้นหน้าไหน รับทำงานหนักพูดเยอะเสียงหาย พยานคดีอธิบดีอุทยานฯ ให้ปากคำอีกราย ปัดไม่รู้เงินอะไร ขณะที่ จนท.พื้นที่ปัตตานีอ้าง 1 แสนเงินทำบุญ “ชัยวัฒน์” งัดหลักฐานแย้งให้การเท็จ แฉคนสนิท “รัชฎา” โทร.กดดัน ผอ.ทุกสำนัก
ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 12 มกราคม เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง และนายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมงาน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเฝ้าระวังอย่างจริงจังและเข้มงวด ทุกอย่างต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีขั้นตอนในการดำเนินการทุกอย่าง อะไรก็ตามที่เป็นความผิดต้องถูกดำเนินการทางกฎหมายทั้งสิ้นไม่มีข้อยกเว้น และขึ้นอยู่กับหลายส่วนด้วยกันที่ต้องร่วมมือกัน ขอฝากไว้ด้วยในเรื่องนี้ ขอให้ทุกคนให้ความสำคัญ ตนไม่เคยปล่อยปละละเลยใดๆ ทั้งสิ้น ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามความรับผิดชอบของทุกส่วนในกระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องมีความร่วมมือของประชาชนในการร่วมมือร้องทุกข์กล่าวโทษ
ส่วนเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” ได้มีการสั่งการเพิ่มเติมว่า ให้รู้ว่าภาษีมาจากไหน ต้องรู้ว่าทุกอย่างมาอย่างไร ไปอย่างไร ใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า จัดสัดส่วนต่างๆ ได้เหมาะสมหรือไม่ สำหรับการใช้จ่ายเงิน จะใช้ ให้ใคร นั่นคือรายจ่ายต้องคำนึงถึงที่มาของรายได้ อยากบอกให้ทุกคนทราบว่ารัฐบาลเป็นห่วงเป็นใยทุกคนทุกกลุ่มทุกฝ่ายทุกพวก แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้มาจากภาษีของประชาชน ในแต่ละประเภทให้เกิดความสมดุล เกิดความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นจะต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากที่สุด อย่างไรก็ตาม วันนี้เรื่องทั้งหมดที่มอบนโยบาย เป็นระดับรัฐบาล ระดับคณะรัฐมนตรี ที่ต้องเรียบเรียง ซึ่งระดับปฏิบัติก็ต้องทำตามนี้ มิเช่นนั้นใช้อะไรก็ได้ จ่ายอะไรก็ไม่ได้ ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งไม่ได้ เพราะอันตราย และยอมรับว่ามีปัญหาต่างๆ อยู่บ้างก็ทำต่อก็แล้วกัน งบประมาณ 2567 ที่ต้องเตรียมความพร้อมให้กับรัฐบาลต่อไปด้วย
นายกฯ กล่าวว่า สถานการณ์การเงินการคลังเราอยู่ในเกณฑ์ที่มีความมั่นคง งบประมาณได้รับการยอมรับ และมีการพัฒนาประเทศมากมาย ทั้งนี้มี 2 คำที่ใช้อยู่เสมอคือ ความเท่าเทียมด้านโอกาส และเท่าเทียมด้านกฎหมาย จึงขอเน้นย้ำจะทำอะไรก็ตาม ต้องไม่สร้างภาระระยะยาว จะต้องทำอย่างระมัดระวัง ดำเนินการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเหมาะสม ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์ความท้าทายต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้เป็นอย่างดี และสามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน ในปี 2566 จากเดิมอยู่ที่ 10 ล้านคน และตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2566 ที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจีดีพีจะเพิ่มจากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 3.5 ในปี 2566
ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2567 ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนต่างๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด ภายใต้กรอบวงเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ วงเงินประมาณ 5.05 แสนล้านบาท ดังนั้น การบริหารจัดการด้านการคลังจึงจำเป็นต้องดำเนินไปด้วยความรอบคอบ รักษาวินัย และเสถียรภาพทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด การจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายภาครัฐต้องมีความสอดคล้อง เหมาะสม และยั่งยืน สามารถสนับสนุนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในระยะยาว โดยรัฐบาลได้จัดทำแผนการคลังระยะปานกลางปีงบประมาณ 2567-2570 กำหนดเป้าหมายสัดส่วนการขาดดุลการคลังต่อ GDP ให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และไม่เกินร้อยละ 3 ตามมาตรฐานของสากล
“ถ้าเราใช้งบประมาณที่ถูกต้อง คุ้มค่า สุจริต โปร่งใสและเป็นธรรม ตรวจสอบได้ นี่คือหลักการของผมในฐานะนายกฯ หัวหน้ารัฐบาล ฉะนั้นจะต้องไม่มีการทุจริต ถ้ามีก็ต้องถูกลงโทษ ผมไม่เคยละเว้นใครทั้งสิ้น ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ขอให้ช่วยกันให้เรียบร้อยทุกเรื่อง อย่าให้เกิดความแตกแยก ชิงชัง ผมไม่ต้องการแบบนั้น บ้านเมืองไปกันไม่ได้ เราใช้กลไกที่มีอยู่แล้วเดิมแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้ ขอบคุณทุกคนที่ฟัง คำพูดของผมอาจไม่น่าฟังมากนัก แต่ทั้งหมดนี้คือจิตใจของผม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งระหว่างที่ นายกฯ กล่าวมอบนโยบาย มีอาการเหมือนคอแห้งและเสียงหาย รวมถึงไอเป็นระยะ พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับกล่าวว่า “พูดเยอะ” ก่อนจะหยุดหันไปดื่มน้ำ
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า พูดไปหลายเรื่องแล้ว ก็เก็บรายละเอียดไปช่วยกันออกข่าวด้วยแล้วกันนะจ๊ะ ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯ ไม่สบายหรือไม่ เห็นว่าเจ็บคอ นายกฯ ตอบว่า ทำงานเยอะและหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนเดินทางกลับ นายกฯ กล่าวกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ว่าไม่ได้ป่วย แต่เป็นเพราะพูดติดกันหลายงาน จึงทำให้มีอาการดังกล่าว
ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) หัวหน้าหน่วยงานสังกัดกรมอุทยานฯ ในพื้นที่ จ.ลำปาง เข้าพบ พ.ต.อ.สมยศ ร่มสน รอง ผบก.ปปป. และพนักงานสอบสวน บก.ปปป. เพื่อเข้าให้ปากคำในฐานะพยานตามหมายเรียกคดีนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรียกรับเงินแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งจากผู้ใต้บังคับบัญชา หลังพบซองเงินของกลางซองหนึ่งมีการระบุชื่อหน่วยงานดังกล่าว
จากการสอบปากคำเจ้าตัวอ้างว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับซองเงินดังกล่าว แต่ทราบว่าซองเป็นของหน่วยงานย่อยที่อยู่ในสังกัดของตน แต่ตนไม่ได้เป็นผู้นำซองเงินมามอบให้กับนายรัชฎา จึงไม่ทราบว่าเป็นเงินอะไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ในพื้นที่ จ.ปัตตานี พยานที่เป็นเจ้าของซองเงิน 1 ราย เข้ามาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน บก.ปปป. ตามหมายเรียก จากการสอบปากคำเบื้องต้นอ้างว่าซองเงินของกลาง 1 แสนบาท ที่มีการระบุหน้าซองปัตตานีนั้น เป็นเงินค่าเช่าพระและเงินทำบุญ ไม่ใช่เงินสินบน พร้อมกับนำรูปภาพขณะมอบพระมามอบให้พนักงานสอบสวนประกอบการพิจารณา แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การทั้งหมด
ขณะที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ให้การว่าเงิน 1 แสนบาท ที่นำไปมอบให้นายรัชฎา เป็นเงินบูชาพระบรมรูปจำลองรัชกาลที่ 5 และไม่ใช่เงินสินบนนั้น เป็นการให้ข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าบูชาพระบรมรูปที่สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานฯ เป็นผู้ดำเนินการว่าจ่ายองค์ละ 15,000 บาท โดยการโอนผ่านเข้ากองทุนสวัสดิการกรมอุทยานฯ ไม่ใช่การนำเงินสดมามอบให้ห้องทำงานของนายรัชฎาอย่างแน่นอน
นายชัยวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากอธิบดีฯ ถูกจับ มีคนสนิทของอธิบดีโทรศัพท์กดดันผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ โดยอ้างตำแหน่งพร้อมระบุว่า ยังมีอำนาจอยู่ ย้ำว่าหากมีเจ้าหน้าที่เรียกสอบ ต้องให้การว่าเงินที่พบในห้องทำงานอธิบดีเป็นเงินที่รวบรวมส่งให้ฝ่ายบริหารเพื่อระดมทุนช่วยเหลือในกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนช่วยเหลือแก้ไขปัญหาช้างป่า ค่าบูชาพระบรมรูปจำลอง รัชกาลที่ 5.