วันนี้ (29 ม.ค. 64) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ชุมชนซึ่งอยู่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัยมหิดล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม พบกับ น.ส.กุญญาพร ช้างเผือก คุณแม่สู้ชีวิตวัย 27 ปี หลังจากมีเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “ปะป๊าทางเลือก” แชร์เรื่องราวที่ขับรถจักรยานยนต์ตระเวนขายน้ำมะพร้าวน้ำหอมถุงละ 20 บาท ย่านศาลายา พุทธมณฑลสาย 2 สาย 3 สาย 4 อ้อมน้อย และบางแวก รวมถึงเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร จนมีการแชร์ต่อกันอย่างแพร่หลาย เพื่อให้คนที่พบเห็นช่วยอุดหนุน กระทั่งเกิดเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย
น.ส.กุญญาพร บอกว่า ยึดอาชีพนี้มา 5 ปีแล้ว เพราะไม่มีหน้าร้าน โดยพาลูกสาววัย 5 ขวบไปด้วย แต่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ทำให้ขายไม่ดี ซึ่งลูกสาวตนลูกที่คลอดก่อนกำหนดก็ป่วยบ่อย เป็นลมชัก ปอดตีบตั้งแต่กำเนิด ซึ่งหลังจากเรื่องราวถูกแชร์ออกไปก็มีคนแนะนำให้รับเป็นออเดอร์ ไม่อยากให้ตระเวนขายไปเรื่อยหลายที่ เพราะเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดอยู่ ห่วงความปลอดภัยของลูกสาว
ต่อมาก็มีคนเห็นใจติดต่อมาสั่งออเดอร์ไม่ขาดสาย ทำให้มียอดขายที่ดีขึ้น บริการส่งฟรี ใกล้ไกลไม่เกี่ยง แต่ต้องไม่ไกลจนเกินไป เพราะตนใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ และจำเป็นต้องพาลูกไปด้วย เพราะไม่มีคนดู ทุกคนในบ้านต่างต้องทำมาหากิน ถ้าทิ้งไว้ลำพังจะเป็นอันตรายมากกว่า หากอาการลมชักของลูกกำเริบ
ขณะเดียวกันก็กลายเป็นกระแสดรามา เนื่องจากคนปฏิเสธการเปิดบัญชีรับบริจาค ซึ่งมีหลายเพจติดต่อเข้ามา รวมทั้งผู้คนทั่วไปที่โทรศัพท์มาสอบถาม ต้องการบริจาคเงินช่วยเหลือคนละเล็กละน้อย แต่กลับมีเลขบัญชีเงินฝาก และชื่อของตนถูกโพสต์ในคอมเมนต์เพจต่างๆ กระทั่งมียอดโอนเข้ามาประมาณ 2 หมื่นบาท ตนก็ต้องรีบแจ้งทุกเพจต่างๆให้ช่วยลบ และแจ้งว่างดรับบริจาค เพราะไม่อยากเบียดเบียนเงินคนอื่น ไม่สะดวกใจที่จะใช้ และยังมีคนที่ลำบากกว่าตน อยากให้คนเหล่านั้นที่ลำบากกว่าได้รับการช่วยเหลือมากกว่า
ส่วนเลขที่บัญชีเกิดจากพี่ผู้หญิงที่โทรมาสั่งออเดอร์แต่เขาไม่อยู่ โดยให้ตนเอาไปส่งให้ลูกน้องที่บริษัทที่ทำงาน และขอเลขบัญชีเพื่อโอนเงินค่าน้ำมะพร้าว ตนก็ให้ไป เขาก็น่าจะจดหรือพิมพ์ก็ไม่ทราบ เป็นเลขที่บัญชี ชื่อธนาคาร ชื่อและนามสกุลของตน และก็โอนเงินให้ปกติ แต่เรื่องของตนที่ถูกแชร์ไปในโซเชียลมีเดียมีคนอยากช่วยบริจาค ก็มีการคอมเมนต์หาเลขบัญชี พี่คนที่มีหมายเลขบัญชีตนจึงเอาไปโพสต์ตอบคอมเมนต์ด้วยความหวังดี แต่กลับกลายเป็นกระแสดรามา หาว่าตนสร้างเรื่อง
น.ส.กุญญาพร ย้ำว่า ไม่ได้รับบริจาค หากใครอยากช่วยให้ช่วยอุดหนุนสั่งออเดอร์น้ำมะพร้าว หรือส่งเป็นสิ่งของเสื้อผ้าเด็ก ของเล่น ให้ลูกแทน สำหรับเงินบริจาคที่โอนเข้ามาก่อนหน้าประมาณ 2 หมื่นบาท ก็เอาไปโปะหนี้นอกระบบ ซื้อเต็นท์ และทำข้าวกล่อง ซื้อน้ำแจกคนเร่ร่อนที่สนามหลวง ทุกวันนี้ยังมีคนอยากบริจาค หรือแกล้งโทรมาสั่งออเดอร์ แต่เป็นพื้นที่ที่ตนไม่สามารถไปส่งได้ เพราะไกลเกิน เช่นย่านคลองเตย หรือจังหวัดในภูมิภาคอื่นๆ ทุกภาคทั่วประเทศ จ.ปัตตานีก็ยังมี ซึ่งตนไม่สามารถไปส่งได้แน่นอน แต่ตนเข้าใจว่าคนเหล่านี้มีเจตนาและตั้งใจจะบริจาคเงินมากกว่า จึงขอร้องว่าให้ช่วยอุดหนุนน้ำมะพร้าว แล้วตนจะเป็นตัวแทนเอาไปทำบุญด้วยการแจกคน ถวายให้พระ หรือใส่บาตรในตอนเช้า หากใครสนใจติดต่อซื้อน้ำมะพร้าวอันนี้ยินดี สามารถสอบถาม หรือสั่งออเดอร์ได้ที่เบอรโทร 066-1425047
น.ส.กุญญาพร บอกด้วยความเสียใจว่า รู้สึกเจ็บปวดในฐานะคนเป็นแม่ แต่มีคนที่คิดอีกด้านบอกว่าเอาลูกมาหากิน สร้างเรื่องให้เกิดความสงสารเพื่อจะขายของได้ ทั้งที่เขาไม่รู้ข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่สามารถจะไปไล่ตอบได้ทุกคอมเมนต์ เสียเวลาทำมาหากิน ตนไม่ต้องการร่ำรวยจากการบริจาค ตนมีสองมือ สองขา ยังมีแรง มีลมหายใจ ก็จะค้าขาย ได้กำไรนิดหน่อยเพื่อเลี้ยงปากท้อง เลี้ยงลูก ส่งเสียให้เรียน เอาไว้ซื้อยารักษาอาการป่วย ไม่เคยท้อ ท้อไม่ได้ เหนื่อยอยากจะหยุด แต่ก็หยุดไม่ได้ หยุดก็ไม่มีกิน และการหาเงินจากน้ำพักน้ำแรง จากหยาดเหงื่อของตัวเอง ถือเป็นความภาคภูมิใจ
“เมื่อปากยังหิว ยังต้องกินต้องใช้ ก็ต้องรู้จักหา มีคนถามว่าแฟน พ่อของลูกไปไหน ก็จะบอกว่าเขาก็ทำงานรับจ้างทั่วไป เป็นช่างซ่อมรถด้วย ใครจ้างให้ไปทำที่ไหนเขาก็ไป ต้องแยกกันหาเงินช่วยกัน เปรียบเหมือนเรือที่มันกำลังรั่ว ถ้าเราอยู่บนเรือลำเดียวกันเรือมันก็จมน้ำเร็วขึ้น แต่ถ้าแยกกันก็ยื้อเวลาให้เรือกว่าจะจมนานขึ้น ” น.ส.กุญญาพร กล่าว
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ พม.นครปฐม ยังติดต่อมาเพื่อสอบถามความต้องการการช่วยเหลือ เนื่องจากมีคนเห็นเรื่องราวตนในโซเชียลมีเดียแล้วทำเรื่องเสนอมาที่ พม. จังหวัด ตนจึงปฏิเสธ ไม่ขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะตนได้เงินช่วยเหลือค่าคลอดบุตรแล้วเดือนละ 600 บาท ตนเชื่อว่ายังมีคนด้อยโอกาส คนที่เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือมากกว่าตน จึงขอให้สิทธิ์ตรงนี้ไว้สำหรับคนที่เดือดร้อนกว่า ตอนนี้ตนยังมีบ้านอยู่ มีอาชีพค้าขายทำ จึงไม่อยากไปเบียดบังสิทธิ์คนอื่นที่สมควรได้รับมากกว่า