เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบ กฎหมายปลดล็อก “พืชกระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษ โดยจะมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้เรื่องราวของต้น กระท่อม กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในฐานะพืชที่มีสรรพคุณทางยา
สำหรับ “กระท่อม” พบในบางจังหวัดของภาคกลาง แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ ตั้งแต่สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูลพัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และตอนบนของประเทศมาเลเซีย
กระท่อม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 10-15 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบขนาดกว้างประมาณ 5-10 ซม. ยาวประมาณ 8-14 ซม. ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 ซม.
เพจเฟซบุ๊ก “ภูมิภูเบศร ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรและภูมิปัญญาสุขภาพ บางเดชะ” โพสต์ข้อความระบุถึงสรรพคุณของ “พืชกระท่อม” ไว้อย่างน่าสนใจ เพราะสามารถเป็นยาในหลายด้าน พร้อมทั้งแนะนำสิ่งที่ควรระวังในการนำมาใช้ประโยชน์ มีเนื้อหาดังนี้…
## กระท่อม มีสรรพคุณทำให้มีกำลังวังชา ในการตรากตรำทำงาน ##
ทำงานหนักกลางแดดเปรี้ยงๆ นิยมนำใบมาเคี้ยวกินสดๆ หรือจัดเรียงใส่ใน สำรับหมาก บ้างก็พกติดตัวพร้อมจะหยิบออกมาเคี้ยว กินยามเหนื่อย ล้าอ่อนแรงจากการทำงานหนัก บ้างก็นำมารับประทานเมื่อยามร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย
โดยเชื่อว่าสามารถลดอาการเจ็บปวด ช่วยให้ทนต่อความเจ็บปวดจากโรคที่เป็นอยู่ได้ บ้างก็นำใบอ่อนมาเคี้ยวรับ ประทานเล่นยามว่าง หรือรับประทานเป็นผักกับข้าว เพื่อช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชายได้อีกด้วย
ชาวบ้านยังใช้กระท่อมเป็นยาช่วยฟื้นฟูร่างกาย และเพิ่มกำลังวังชาให้สตรีหลังคลอดใหม่ๆ โดยนำใบมาต้มกับน้ำให้เดือด แล้วนำมาดื่ม
กระท่อมมีฤทธิ์เสพติดน้อย แม้จะใช้มานานจนติด แต่การถอน ยานั้นหมอยาบอกว่าไม่ต่างจากการเลิกกินหมาก และมีข้อแนะนำว่าหลังเคี้ยวใบกระท่อมควรดื่มน้ำตามมากๆ
ในตำรับยาไทยนั้นกระท่อมมีฤทธิ์ทางยาโดยเปลือกและใบ สามารถรักษาอาการท้องร่วง ปวดท้อง ลดอาการถ่ายเป็นเลือด รักษาโรคกระเพาะอาหาร และยังเป็นส่วนประกอบในตำรับยาต่างๆ เช่น ประสะกระท่อม ยาแก้บิดลงเป็นเลือด ประสะกาฬแดง เป็นต้น
ในการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดใบกระท่อมมีองค์ประกอบทาง เคมีหลายกลุ่มได้แก่ Alkaloids, Flavonoids, Triterpenes, Phenolic compounds เป็นต้น
สารสำคัญที่พบในสารสกัดใบกระท่อม คือ Mitragynine เป็นสารกลุ่ม Indole alkaloids มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลากหลาย ได้แก่ ฤทธิ์ลดการเจ็บปวด ฤทธิ์ต้านการ อักเสบ ฤทธิ์กระตุ้นประสาท ฤทธิ์ต้านการซึมเศร้า
มีผลต่อความจำ ลดการหลั่งกรด ลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก รวมไปถึงลดการอยากอาหาร ซึ่งได้รับการยืนยันจากผลการวิจัยทั้งในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และในมนุษย์
ปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ ทางเภสัชวิทยาของสาร Mitragynine รวมทั้งมีการพัฒนาสูตรโครงสร้างของสารตัวนี้แล้วนำไปจดสิทธิบัตรแล้ว
ข้อควรระวัง การศึกษาพิษของกระท่อมพบว่าผู้ที่ใช้ใบกระท่อม ปริมาณมากเป็นเวลานาน พบอาการถอนยาเมื่อหยุดใช้กระท่อม พบความเป็นพิษต่อตับ ไตและพบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิตเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นโดยเฉพาะกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
สิ่งน่ารู้
ใบอ่อนกระท่อมกินเป็นอาหารได้ หรือ นำใบอ่อนมา รับประทานสด ย่างหรือนำมาลวกต้มจิ้มน้ำพริก น้ำบูดูรับประทานเป็นผักกับข้าว ข้าวยำ
เมื่อเคี้ยวใบกระท่อมไปประมาณ 5-10 นาที จะมีอาการกระปรี้กระเปร่ามีความสุข ไม่รู้สึกหิว ทำให้มีแรงทํางานได้นานมากยิ่งขึ้นทนต่อแดด แต่จะมีอาการวิตก กลัว และหนาวสั่น เวลาอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน
ถ้าเสพในปริมาณมากจะทําให้มีอาการมึนงง และคลื่นไส้อาเจียน แต่สำหรับบางคนเมื่อเคี้ยวเพียงแค่ 2-3 ใบก็อาจส่งผลทำให้รู้สึกเมาได้ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ควรปรึกษาหมอยาหรือผู้ใหญ่ทุกครั้งก่อนที่จะบริโภค
ชาวมลายูใช้ใบกระท่อมตำพอกแผล รวมถึงใช้สูบแทน ฝิ่น เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมฝิ่นออกมาเพื่อลดการติดฝิ่น
ภูมิภูเบศร ขอเป็นส่วนหนึ่ง ในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 และเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคนร่วมฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันCr. โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกัญชา และผองเพื่อน สมุนไพร…เพื่อระบบประสาท และจิตใจโดย…. ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
- แนะทำความสะอาด”7 จุดซ่อนฝุ่น”ในบ้าน ป้องกันพิษPM2.5
- สำนักพระราชวังประกาศปิดวังต่อ จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย
- โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯ 12,868 ราย “มาดามแป้ง – ตูน บอดี้สแลม” ได้รับพระราชทานด้วย
เรื่องโดย Nation TV | ภาพโดย Nation TV