ไทยพีบีเอสลงพื้นที่ไปที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดูขั้นตอนการตรวจสอบอีกครั้ง หลังสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ออกประกาศเรื่องตรวจพบ DNA ของสุกรในผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นเนื้อวัว
วันนี้ (12 ม.ค.2565) นักวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจสอบดีเอ็นเอสุกรในผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นเนื้อวัวยี่ห้อดัง ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ออกประกาศพบ DNA สุกรในตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เพื่อเปิดเผยกระบวนการตรวจสอบทั้งหมด
ขั้นตอนการตรวจสอบเริ่มจากการนำเซลล์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาย่อยสลายให้แตกตัว เพราะ DNA สายพันธุกรรมจะอยู่ในส่วนของนิวเคลียส ซึ่งเป็นส่วนที่ได้รับการปกป้องมากที่สุด ฉะนั้นเทคนิค กระบวนการตรวจจะใช้ระยะเวลาพอสมควรในการย่อย กระทั่งได้สายพันธุกรรมมาแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำไปเติมน้ำยาสายพันธุ์ที่เรียกกันว่า ไพรเมอร์ (Primer) ซึ่งตัวสายพันธุ์จะเข้าไปจับกับตัว DNA ในอาหาร ก่อนจะแบ่งตัวขึ้นมา ซ้ำไปทีละรอบ ๆ เรื่อย ๆ เป็นกลไกการสร้างห่วงโซ่ เพื่อให้ได้พวกสายพันธุ์ในปริมาณที่มากขึ้น ๆ
สมมติว่าในอาหารของเรามันมียีน (gene) ของสุกรในปริมาณมาก การทำปฏิกิริยาก็จะเร็ว
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทีมนักวิจัยจะนำผลที่ได้จากการสกัดก่อนหน้านี้เข้าเครื่อง Real TIME PCR เพื่อหา DNA ของสุกรในอาหาร จากการตรวจสอบ 4 ขั้นตอน ใช้เวลาเกือบ 10 ชั่วโมง ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ยืนยันว่า มี DNA สุกรผสมอยู่ในลูกชิ้นวัว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พบ “DNA หมู” ในลูกชิ้นเนื้อวัว คกก.กลางอิสลามฯ แนะไม่ควรกิน