นิคมอุตสาหกรรมจะนะ
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เรื่องราวของนิคมอุตสาหกรรมจะนะมีมาอย่างไร คนนอกพื้นที่ห่วงใย
บักกร
ตอบ บักกร
โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา เริ่มขึ้นในปี 2559 โดย ครม.ยุครัฐบาล คสช.อนุมัติโครงการ “เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และต่อมาในปี 2562 ให้ขยายโครงการไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา (ต่อจาก อ.เบตง จ.ยะลา, อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) ใช้ชื่อว่า “โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” มีศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการเช่นเดียวกัน และ ม.ค.2563 ได้กำหนดให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ทั้งเห็นชอบแผนเร่งด่วนรองรับการลงทุนของภาคเอกชน
ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนที่ระบุว่า การดำเนินโครงการขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งที่กระทบชีวิตผู้คนในชุมชน เป็นโครงการที่จะสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมหาศาล
โครงการนี้ใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของ ต.นาทับ, ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จำนวน 16,753 ไร่ รองรับ 6 พื้นที่ ประกอบด้วยเขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา, เขตอุตสาหกรรมหนัก, เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์, เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ, เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า และพื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย
เกี่ยวกับประเด็นปัญหา คำตอบสรุปจากรายงาน “ลำดับเหตุการณ์กว่า 5 ปี ความขัดแย้งเมืองอุตสาหกรรมจะนะ” ของ BBCไทย ดังนี้
4 ต.ค. 2559 ครม.มีมติเห็นชอบโครงการ “เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ครอบคลุม จ.ปัตตานี นราธิวาส และยะลา, 7 พ.ค. 2562 เห็นชอบให้ขยายโครงการ ไปสู่ อ.จะน จ.สงขลา และ 9 ธ.ค. 2562 ศอ.บต.กำหนดให้ อ.จะนะ เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในฐานะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต
28 เม.ย. 2563 ศอ.บต.ประกาศรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ 14-20 พ.ค. 2563 (เลื่อนเป็น 11 ก.ค.), 12 พ.ค. 2563 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเรียกร้องให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต. เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลผลกระทบของโครงการอย่างครบถ้วนรอบด้าน
11 ก.ค. 2563 ศอ.บต.จัดรับฟังความคิดเห็น ขณะที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการร้องเรียนว่าถูกสกัดไม่ให้เข้าร่วมเวที และ 17 ก.ค. 2563 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นประกาศจุดยืนคัดค้านโครงการ
28 ก.ย. 2563 คณะกรรมการผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาเปลี่ยนผังเมืองให้ที่ดินบางส่วนของ อ.จะนะ จากพื้นที่สีเขียว/สีเขียวอ่อน (พื้นที่ชนบท, เกษตรกรรม, อนุรักษ์ป่าไม้) เป็นสีม่วง (อุตสาหกรรม)
10-15 ธ.ค. 2563 ชาวบ้านและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้หยุดโครงการ และให้จัดทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA)
14 ธ.ค. 2563 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ในขณะนั้น พูดคุยและได้ทำบันทึกข้อตกลง “ระหว่างกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นกับผู้แทนรัฐบาล” ใจความสำคัญคือ ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานของ ศอ.บต. และติดตามการแก้ไขปัญหาโครงการ ให้ยุติการดำเนินการใดๆ ไว้ก่อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผังเมืองและการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของบริษัทเอกชน และรัฐบาลต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของโครงการ
6 ธ.ค. 2564 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลทำตามบันทึกข้อตกลงที่ทำไว้เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 และประท้วงที่ผิดสัญญา เนื่องจากบริษัทเอกชนเดินหน้าจัดทำ อีไอเอของโครงการต่างๆ ในพื้นที่